วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2566

The Incubation Network อัดฉีดเงิน 7.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ สนับสนุนโซลูชันด้านการรีไซเคิลและอัพไซเคิลในเอเชีย

The Incubation Network อัดฉีดเงิน 7.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ สนับสนุนโซลูชันด้านการรีไซเคิลและอัพไซเคิลในเอเชีย

โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ได้สนับสนุน 5 โซลูชันที่เน้นการรีไซเคิลและอัพไซเคิลมาเป็นเวลากว่า 5 เดือน พร้อมมอบเงินทุนเพื่อนำไปใช้เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานและปรับปรุงสถาพการทำงานต่อไป

         โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ประสบความสำเร็จกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากที่ได้ดำเนินการขยายโซลูชันที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกจากการรีไซเคิลและการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (อัพไซเคิล) ที่ครอบคลุม 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา พร้อมอัดฉีดเงินทุนสนับสนุนรวม 72,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 2.5 ล้านบาท เพื่อมอบให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำไปใช้เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานและปรับปรุงสภาพการทำงาน อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการจัดการ การแปรรูป และการรีไซเคิลขยะพลาสติกในปริมาณที่มากขึ้นได้

              นายนาโน โมแรนท์ ผู้ก่อตั้ง Plastic People กล่าวว่า "เงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจากโครงการทำให้เราสามารถจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ นำเสนอวิธีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของเรา ทั้งยังเอื้อให้เราสามารถจ้างบุคลากรมาดูแลแผนธุรกิจและโครงการขยายตัวต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้เรายังใช้เงินสนับสนุนดังกล่าวในการบำรุงรักษาเครื่องจักร และซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปลดล็อกปัญหาคอขวดต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการขยายตัวของเราต่อไป” ด้านนางเฟย์ เฟปบรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bank Sampah Bersinar กล่าวว่า “เงินสนับสนุนจากโครงการนี้จะนำไปลงทุนซื้อรถบรรทุกเพื่อเก็บขยะคันใหม่ โดยจะช่วยให้เราสามารถรวบรวมขยะจากพันธมิตรธนาคารขยะประจำหน่วยของเราได้มากขึ้น"

              โครงการดังกล่าวนำโดย The Incubation Network ร่วมกับ the Global Plastic Action Partnership, UpLink by the World Economic Forum  และ Alliance to End Plastic Waste ซึ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคาร Bank Sampah Bersinar (อินโดนีเซีย) Envirotech (ฟิลิปปินส์) Kibumi (อินโดนีเซีย) Plastic People (เวียดนาม) และมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล (ประเทศไทย)

        การสนับสนุนเพื่อการขยายตัวทางธุรกิจที่ออกแบบขึ้นเฉพาะรายผู้เข้าร่วมโครงการล้วนได้รับสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนมากมายตลอดโครงการ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และโอกาสในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้เข้าร่วมการอบรมที่เน้นการจัดการขยะและการรีไซเคิล การตลาด และอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับขยายขนาดธุรกิจ โดยข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำที่ได้รับจากการอบรมต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปปรับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ รวมทั้งพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่หลากหลายอีกด้วย

             กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 9 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยให้คำแนะนำและทิศทางที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการเติบโต “โครงการที่ออกแบบมาเฉพาะนี้ได้แนะนำให้เรารู้จักกับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสนับสนุนความต้องการที่เฉพาะของเรา ผู้เชี่ยวชาญกับเราได้ทำงานเชื่อมโยงสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ผ่านการได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์การตลาดและแคมเปญของเรา” นายเจมส์ สกอทท์ กรรมการบริหารมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล (ประเทศไทย) กล่าว

          ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พร้อมกับการนำเสนอผลการปฏิบัติงานต่อ Uplink Global Plastic Action Partnership และ Alliance to End Plastic Waste ผ่านทางการประชุมแบบออนไลน์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดได้รายงานผลการเติบโตและการพัฒนา การนำเสนอผลงานที่ผ่านมายังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอีกด้วย นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการทำงานร่วมกันในอนาคต

“เราสนับสนุนโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือสตาร์ตอัปอีก 358 รายในการขยายขนาดธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จำนวนขยะพลาสติกลดลงไปแล้วเกือบ 148,000 เมตริกตัน” นายไซมอน บอลด์วิน หัวหน้าระดับโลกด้าน Circularity ของ  SecondMuse กล่าว พร้อมทั้งเผยอีกว่า “SecondMuse มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติกและส่งเสริมการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำต่อไป โดยมุ่งเน้นในการผลักดันความก้าวหน้าและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตดังกล่าวนี้”

          นายพูนาม วาทีน ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของ UpLink กล่าวว่า "วิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการลดมลพิษจากพลาสติก ผู้ริเริ่มในการแก้ไขปัญหาที่สร้างผลกระทบและแรงบันดาลใจในวงกว้างคือประกายแห่งความหวังในการรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านขยะพลาสติกที่กำลังจะมาถึงผ่านนวัตกรรม เราพร้อมที่จะสนับสนุนสุดยอดนักประดิษฐ์ขยายผลกระทบผ่านการส่งเสริมให้องค์กรเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น ความเชี่ยวชาญ และโอกาสในการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องผ่านแพลตฟอร์มของ UpLink"

             ด้าน นายนิโคลาส โคเลซช์ รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste ผู้สนับสนุนเงินทุนโครงการ The Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge กล่าวว่า "ทาง Alliance ได้สนับสนุนสตาร์ตอัปในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมา โดยได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบจำนวนมากที่บุกเบิกและสร้างสรรค์นวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติกและการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสตาร์ตอัปให้สามารถกำหนดรูปแบบการแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน การต่อยอดธุรกิจ และการขยายตัวต่อไป ทั้งนี้โครงการของ The Incubation Network เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสตาร์ตอัปเป็นจำนวนมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาค และสร้างแรงบันดาลใจให้เราขยายผลการทำงานต่อไป"

              โครงการดังกล่าวนี้ได้รับทุนจาก Alliance to End Plastic Waste และการสนับสนุนจาก SecondMuse, The Circulate Initiative, Global Affairs Canada และ DEFRA




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาส

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาส  ในโครงการส่งเสริ...