วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เทศกาลตรุษจีน “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้”

เทศกาลตรุษจีน ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้



เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  เข้าสักการะหลวงปู่ไต้ฮง เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย


สำหรับงานเทศกาลตรุษจีน 2562 “สักการะหลวงปู่ไต้ฮง ทำบุญพะเก่ง ทานสาคูสิริมงคล  เริ่มแล้วและจะมีไปจนถึงวันที่13 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ตั้งแต่เวลา 06.00 - 22.00 น. ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย


ผู้สนใจสามารถติดต่อ-สอบถามรายละเอียดได้ที่ ทีมงานสื่อสารองค์กร โทร. 086-854-1418
ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต โทร.สายด่วนป่อเต็กตึ๊ง 1418


วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พร้อมลุยศึกเลือกตั้ง ใช้หลักการศึกษานำการเมือง "ครูสร้างคน ประชาชนสร้างชาติ"


พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พร้อมลุยศึกเลือกตั้ง
ใช้หลักการศึกษานำการเมือง "ครูสร้างคน ประชาชนสร้างชาติ"
พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. กว่า 400 คนทั่วประเทศ



นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ชูนโยบายหลัก สู้ศึกเลือกตั้ง พร้อมย้ำพรรคทำตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อสียงอย่างแน่นอน พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้ลงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 400 คนทั่วประเทศ เป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่ออีก 50 คน และเป็นผู้ลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขต 350 คน จาก 5 ภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคตะวันออก ณ ที่ทำการพรรคพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ถนนกิ่งแก้ว



นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน กล่าวถึงเผยนโยบายหลักของพรรค โดยแบ่งเป็น ๔ หลัก ดังนี้คือ
นโยบายด้านการศึกษา โดยการปฏิวัติการศึกษา ทั้งด้านหลักสูตร ปรับโครงสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ให้มีวิชาหน้าที่พลเมือง-ศีลธรรม ให้เป็นคนดีคนเก่ง ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-อุดมศึกษา ด้านบุคลากร ปฏิวัติกระบวนการผลิตครู, การใช้ครู, การจัดสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูเท่ากันทั้งภาครัฐและเอกชน และด้านการบริหาร ปฏิวัติโครงสร้างการกระจายอำนาจการบริหารจัดการองค์กรทุกระดับ


นโยบายด้านการเกษตร เสนอพระราชบัญญัติปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อความเท่ากันของประชาชน (แปลง ส.ป.ก., ส.ท.ก., ภ.บ.ท. เป็นโฉนดที่ดินของประชาชน) แลสร้างแหล่งน้ำ พัฒนาพื้นที่ 4 ภูมิภาค ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
นโยบายด้านการสังคม ให้พักชำระหนี้ประชาชน ข้าราชการ และครู เป็นระยะเวลา 4 ปี หยุดประชานิยม สู่สังคมรัฐสวัสดิการ และออกบัตรคนดีปลดหนี้ประชาชน (บุคคลที่ทำความดี มีคะแนน ตีมูลค่าเป็นเงิน ใช้ปลดหนี้ได้)



และนโยบายด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวปฏิบัติ ช่วยเหลือธุรกิจในระดับต่างๆ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง พัฒนาสินค้าเกษตรกรรมเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
และปลดล็อคกฎหมายกัญชาและส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ภายใต้การกำกับของรัฐ พร้อมตั้งธนาคารครูไทย / ธนาคารประชาชน / ธนาคารวิถีพุทธ / ธนาคารต้นไม้ เป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าชุมชน ส่งขายต่อ โดยใช้ศาสตร์พระราชาทั้งหมด


นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ทางพรรคครูไทยเพื่อประชาชนของเรามีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งผู้ลงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ครบทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 350 คน และ สส. ระบบบัญชีรายชื่ออีก 50 คน และผู้ลงสมัคร สส. ทุกคนล้วนเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ในการทำงานในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายของพรรคที่กำหนดมาอย่างครบถ้วน และที่สำคัญผู้สมัคร สส. ทุกคนล้วนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง  ทำให้มั่นใจได้ว่าพรรคครูไทยเพื่อประชาชนพร้อมที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเต็มที่




วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

งานกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว


เที่ยวปัตตานี ชมมัสยิดกรือเซะเรียนรู้อารยธรรมปัตตานี
ร่วมงานกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว



วันนี้ผมได้รับเชิญให้ไปร่วม "งานกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี" จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี ผมก็ตัดสินอยู่นานว่าจะไปดีหรือไม่ไปดี เพราะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนจังหวัดภาคใต้ ที่หลายคนรวมทั้งผมด้วยก็คงต้องนึกถึงอันตรายที่มีขึ้นไม่เว้นแต่ละวันแต่ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าและบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทำให้ผมตัดสินใจรับคำเชิญ เมื่อไปถึงจังหวัดปัตตานี อาจารย์อรรถพร อารีหทัยรัตน์ มัคคุเทศก์เฉพาะท้องที่ปัตตานีก็มาคอยต้อนรับเราที่สนามบินหาดใหญ่ แล้วนำเราเดินทางสู่จังหวัดปัตตานีทันที ระหว่างทางทั้งคู่ก็บรรยายเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองปัตตานี เมื่อไปถึงจังหวัดปัตตานี ผมถึงรู้ว่าจังหวัดนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าวเลยหรืออย่างที่ผมคิดไว้เลยสักนิด กลับเป็นเมืองที่เงียบสงบ แฝงความอบอุ่น คนในท้องถิ่นก็อัธยาศัยไมตรีดี เจอปุ๊บก็จะยิ้มแย้มต้อนรับแบบเป็นกันเอง 
จุดแรกที่พวกเราไปคือศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานีเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดปัตตานี เมื่อมาถึงที่นี่เจ้าหน้าที่สาวสวยก็จะนำเราไปชมวีดีทัศน์บรรยายสรุปเกี่ยวกับเมืองปัตตานี จากนั้นก็จะพาไปยังห้องชุมชนท่องเที่ยวปัตตานี ที่แสดงแหล่งชุมชนท่องเที่ยว 10 ชุมชน ผ่านโมเดลรูปแบบต่างๆ ได้แก่ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาวชุมชนที่มีความงดงามและอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีน้ำตกทรายขาว ผาพญางู และเทือกเขาสันกาลาคีรี รวมทั้งยังมีกิจกรรมนั่งรถจี๊ปชมสวนผลไม้ นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์ วัดทรายขาว มัสยิด 300 ปี,ชุมชนท่องเที่ยวยะรัง โบราณสถานกลางสวน ก็มีเมืองโบราณยะรัง เป็นที่ตั้งของลังกาสุกะในอดีตและยังมีของอร่อยที่ขึ้นชื่อคือลูกหยีกวน, ชุมชนท่องเที่ยวยะหริ่ง เบิกฟ้าเปิดวังยะหริ่งสู่อดีตเมืองปัตตานี วังยะหริ่งเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองที่ยังคงความสมบูรณ์มากที่สุดที่นี่ยังมีการทอผ้าลายปัตตานี และมีศิลปินแห่งชาติด้านดนตรี (ไวโอลิน) คือลุงขาเดร์แวเด็ง,ชุมชนท่องเที่ยวบางปู บางสวรรค์นิทานหิ่งห้อย เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นเรื่องของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์มาก ล่องเรือชมป่ายชายเลน ผ่านอุโมงค์โกงกางเลาะตามคลองดาโต๊ะ ผ่านคลองวอแก คลองกาเร็ง  คลองยะหริ่งออกอ่าวปัตตานีแล้วแวะชมนก ดูหิ่งห้อย สนใจติต่อโทร.0883894508  และ 0869631927,ชุมชนท่องเที่ยวบราโหม ร่องรอยเชื่อมต่ออดีตสู่ปัจจุบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่มีโบราณสถานที่เก่าแก่ร่วม 500 ปี ไม่ว่าจะเป็นสุสานพญาอินทิรา สุสานสุลต่านอิสมาอีลชาห์ เจ้าเมืองพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลามสุสานราชินี 3 พี่น้องคือรายาฮิเยา รายาบีรู  รายาอูงู นอกจากนี้ที่นี่ยังได้ชื่อว่าชุมชนต้มยำกุ้ง เพราะชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารต้มยำกุ้งที่ประเทศมาเลเซีย, ชุมชนท่องเที่ยวแหลมโพธิ์เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นครอบคลุมการท่องเที่ยว 3 ประเภท ทั้งทางวัฒนธรรม จากสภาพชีวิตชาวประมงที่ออกหาปลาโดยเรือกอและ ทางประวัติศาสตร์ ก็มีสุสานเจ้าเมืองปัตตานีตนกูบือซาร์สุสานโต๊ะบันยัง และมัสยิดดาโต๊ะ ซึ่งเป็นมัสยิดร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะ ทางธรรมชาติ  ณ แหลมตาชี สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้จุดเดียวกัน, ชุมชนท่องเที่ยวตันหยงลุโล๊ะ ชุมชนที่รวมความศรัทธาสองสายวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะ สัญลักษณ์ของอาณาจักรปาตานีดารุสสลาม ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวไทยมุสลิม รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของชาวไทยเชื้อสายจีน,ชุมชนท่องเที่ยวตุยง เที่ยววัด ชมวังประวัติศาสตร์ด้านหนึ่งของปัตตานี มีวังตุยง 1 ในวัง7 หัวเมืองที่ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังมีวัดมุจลินทวาปีวิหารหรือวัดตุยง ซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่ผ่านการบูรณะมาแล้วหลายสมัย แต่ที่น่าสนใจคือ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่ามากมาย และที่นี่ยังมีขนมเบื้องญวน ที่หารับประทานได้ที่นี่ที่เดียว, ชุมชนท่องเที่ยวจะบังติกอ วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนมุสลิม มีวังจะบังติกอ 1 ในวัง 7 หัวเมือง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสุลต่านอับดุลกอเดร์ สุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานีรวมทั้งมีกูโบร์โต๊ะอาเย๊าะห์ สถานที่ฝังพระศพเจ้าเมืองและเชื้อสายพระวงศ์ นอกจากนี้ยังมัสยิดรายอฟาฏอนีหรือมัสยิดจะบังติกอที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของถนนสายรอมฏอนเนื่องจากมีมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี,ชุมชนท่องเที่ยวน้ำบ่อ หาดงามกับวิถีประมงพื้นบ้าน เป็นชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นั่นคือหาด......เป็นชายหาดที่มีเม็ดทรายสีทอง นอกจากนี้ยังมีวิถีประมงพื้นบ้าน การทำปลากะตักแห้งตามชายหาดเมื่อรู้ถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีมากมายแล้ว พวกเราก็เดินไปที่ห้องพหุวัฒนธรรม เป็นห้องที่จำลองสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของปัตตานีไว้ 3 วัฒนธรรมคือ วัฒนธรรมไทย-มุสลิม วัฒนธรรมไทยพุทธ และวัฒนธรรมไทย-จีน แล้วก็ถึงห้องสุดท้าย ห้องอารยธรรมปัตตานี เป็นห้องที่จัดแสดงถึงชาติพันธุ์ของชาวปัตตานีในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านวีดีทัศน์และภาพเขียนสีน้ำมันที่สวยงาม และยังจัดแสดงประเพณีแต่งงานของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู


จากนั้นพวกเราก็เดินออกจากศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานีไปยังมัสยิดกรือเซะที่อยู่ถัดไปด้านข้างนิดหน่อย หลายคนคงรู้จักมัสยิดกรือเซะกันเป็นอย่างดีจากข่าวโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือที่รู้จักกันดีใน "เหตุการณ์กรือเซะ"เป็นการปะทะกันดุเดือดกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งก่อความสูญเสียชีวิตผู้คน 34 ชีวิตทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ตามประวัติว่าในสมัยเจ้าหญิงฮิเยา เจ้าหญิงบีรู เจ้าหญิงอูงู และเจ้าหญิงกูนิงครองเมืองปัตตานี ระหว่างปีพ.ศ.2127-2230 มัสยิดกรือเซะเป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สวยงามภายในมีลวดลายอันวิจิตร บนยอดโดมของมัสยิดกรือเซะหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ยังไม่ถูกทำลาย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยบางส่วนและประวัติศาสตร์ของชาวมลายูบันทึกว่าสาเหตุที่มัสยิดกรือเซะเสียหายเพราะโดนกองทัพจากกรุงสยามเข้าตีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.2328 ครั้งที่กองทัพสยามเข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ทหารสยามได้ระดมยิงปืนใหญ่จนเมืองพระราชวังตลอดจนมัสยิดเสียหาย และเมื่อทหารสยามรบชนะก็ได้ทำการเผามัสยิดเพื่อลอกเอาเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มบนโดมมัสยิดกรือเซะอันสวยงามแห่งนี้ไปดังนั้นมัสยิดกรือเซะจึงไม่ได้ถูกฟ้าผ่าตามคำสาปแช่งของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยวดั่งที่ตำนานว่าเมื่อนางไม่สามารถชวนลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้เป็นพี่ชายกลับเมืองจีนเพื่อไปดูแลแม่ที่ชราได้ นางจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจตัดสินใจผูกคอตายกับต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้าง พร้อมทั้งได้อาฆาตพยาบาทต่อมัสยิดกรือเซะที่เป็นต้นเหตุให้พี่ชายไม่สามารถกลับเมืองจีนพร้อมกับนางได้ นางจึงได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ขอให้มัสยิดหลังนี้มีอันเป็นไปในทุกๆครั้งที่มีการก่อสร้างหรือสร้างเสร็จ และครั้งใดก็ตามที่ชาวมุสลิมคิดที่จะบูรณะมัสยิดหลังนี้ เมื่อทำการบูรณะเสร็จก็จะโดนฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนชาวมุสลิมไม่กล้าบูรณะมัสยิดหลังนี้อีกต่อไปและปล่อยให้มัสยิดรกร้างตั้งแต่นั้นมา ด้วยเพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิฤทธิ์ของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยว หรือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปัจจุบันหรือหากมีฟ้าผ่ามัสยิดกรือเซะบ้างก็เพียงเพราะเหตุที่โดมมัสยิดห่อหุ้มด้วยทองคำและในสมัยนั้นไม่มีสายล่อฟ้า มัสยิดกรือเซะได้ถูกกรมศิลปกรตีทะเบียนเป็นโบราณสถาน ชมความเก่าแก่พร้อมเก็บภาพของมัสยิดกรือเซะจนพอใจ


ก็เดินต่อไปอีกนิดก็จะเป็นสุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ นำศพลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวฝังไว้ทำเป็นฮวงซุ้ยที่หมู่บ้านกรือเซะ เล่ากันว่า ลิ้มก่อเหนี่ยวได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นเสมอ จนเป็นที่เลืองลือไปทั่ว เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชา พร้อมกับขนานนามว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปรากฏว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ  แล้วก็บังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆต่อมาพระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย ต้นสกุลคณานุรักษ์) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ไม่สะดวกในการประกอบพิธี จึงทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมากระทั่งทุกวันนี้      จากนั้นก็เดินทางไปชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 ใช้เวลาดำเนินการสร้างประมาณ 9 ปีเป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใตที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมผสานกับแบบสถาปัตยกรรมอินเดีย มีลักษณะรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลในอินเดีย  ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่าบริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่  ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถงมีระเบียงสองข้าง  ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบเป็นที่สำหรับคอฏีบยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์ ปัจจุบันขยายด้านข้างออกไปทั้ง 2 ข้างและสร้างหออะซาน  พร้อมขยายสระน้ำและที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม

ชมความสวยงามของทัชมาฮาลเมืองไทย ก็ได้เวลาไปร่วมพิธีเปิดงานกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวณ บริเวณศาลเจ้าเล่งจูเกียง พร้อมชมการแสดงชมการแสดงทางวัฒนธรรมจากนักเรียน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อุปรากรจีน (งิ้ว) มโนราห์ ฯลฯ จากนั้นเดินทางไปยังเชิงสะพานเดชานุชิต ริมแม่น้ำปัตตานี ชมการแสดงประกอบแสง สี เสียง และสื่อผสม เรื่อง เรืองอารยะปัตตานี บารมีลิ้มกอเหนี่ยวสถิต ศรัทธาศาสนิกสัมพันธ์ ภูมิบดีพระปรมินทร์แผ่นดินสยามก่อนเดินทางกลับโรงแรม ซี เอส ที่พัก
รุ่งอรุณเบิกฟ้า พวกเราต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินทางไปยังศาลเจ้าเล่งจูเกียง ศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดปัตตานีมาตั้งแต่โบราณ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2117 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด  เพื่อร่วมงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งจัดขึ้นหลังจากวันตรุษจีน 15 วัน คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เมื่อไปถึงเราจะเห็นประชาชนจากทั่วสารทิศที่นับถือองค์เจ้าแม่ มายืนรอกันจนแน่นขนัด จนได้เวลาตามฤกษ์ ปีนี้เป็นเวลา 05.30 น.ก็จะเริ่มการอัญเชิญองค์เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว พระหมอองค์ประธานในศาล พร้อมด้วยพระหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้า ได้แก่ เจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้ากวนอู พระแป๊ะกง เทพตั่วเล่าเอี้ย– ไท้ส่วยเอี๊ยไฉ่ซิ้งเอี๊ย รวม 25 องค์ โดยชายหนุ่ม 4 คน จะหามเกี้ยวเริ่มทยอยออกจากศาลเจ้า โดยธรรมเนียมปฏิบัติ องค์ประธานพระหมอจะเป็นคานหามนำ ตามด้วยคานหามเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นอันดับ 2 แล้วจึงต่อด้วยคานหามพระองค์อื่นๆ ขบวนคานหาม ตามความเหมาะสมแห่ทั่วเมืองปัตตานี ถ้าใครได้หามเกี้ยวจะถือว่าได้บุญเป็นพิเศษ จึงมีผู้คนแย่งกันหามเกี้ยวกันหามมากมายโดยจะแห่ไปตามถนนต่างๆ รอบเมือง พร้อมกับมีการเชิดสิงโต แห่ธงทิว คณะดนตรีบรรเลง ตีฉิ่ง ตีกลอง ท่ามกลางเสียงกลอง และเสียงประทัดประดังจนแสบแก้วหูตลอดทางแวะเข้าไปในบ้านที่ตั้งโต๊ะกระถางธูปเทียนไว้หน้าบ้าน เพราะถ้าบ้านใดตั้งโต๊ะไว้เช่นนี้แสดงว่าต้องการอัญเชิญพระเข้าไปในบ้าน เพื่อความสิริมงคลทำมาค้าขึ้น เมื่อขบวนแห่ไปถึงเชิงสะพานเดชานุชิต(สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี) เราจะเห็นประชาชนจำนวนมากมารอชมองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและองค์พระ 25 องค์ ทำพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานีกันเนืองแน่นทั้งสองฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งบนสะพานเต็มไปหมดพระหมอ เจ้าแม่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและองค์พระรวม 25 องค์จะลงลุยน้ำทั้งคนหามและพระลอยไปข้ามแม่น้ำปัตตานี เมื่อเสร็จจากการลุยน้ำแล้วก็จะแห่พระต่อไปรอบเมือง เพื่อระลึกถึงเจ้าแม่ในอดีตที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยความลำบาก ตามหาพี่ชายถึงเมืองปัตตานี จากนั้นก็จะแห่เยี่ยมเยียนประชาชนรอบเมืองอีกก่อนที่จะกลับไปยังศาลเจ้าเพื่อกระทำพิธีกรรมหามพระลุยไฟ อันเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดยอดของงาน คนที่จะหามพระลุยไฟได้ต้องทำ ร่างกายให้สะอาด งดเว้นเกี่ยวข้องกับสตรีเพศอย่างเด็ดขาด บางคนจึงมานอนค้างที่ศาลเจ้าโดยนอนเฝ้าคานหามตลอดคืนเพื่อให้ร่างกายสะอาดอย่างแท้จริง และเป็นการเฝ้าคานหามมิให้ผู้อื่นแย่งไปหามก่อนตนด้วยกองไฟได้ถูกก่อด้วยถ่านไฟรอไว้กลางลานดินหน้าศาลเจ้า กองพูนสูงเทียมหัวเข่า มีพนักงานคอยกระพือพัดให้ไฟลุกแดงจนได้ที่ เมื่อได้เวลาน้ำมนต์จากโอ่งมังกรใบใหญ่ถูกนำมาราดรดผู้หามคานหามจนชุ่มโชก เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแล้วแล้วคนหามทั้ง 4จะอัญเชิญพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) เป็นองค์แรก เดินลุยฝ่า เข้าไปในกองไฟด้วยเท้าที่เปลือยเปล่า โดยมีพระองค์อื่นๆ ลุยไฟตามบริเวณหน้าศาลเจ้า การลุยไฟนี้พระองค์หนึ่งๆ จะลุยไฟกี่เที่ยวก็ได้ คนหามพระสามารถเดินเหยียบผ่านบนกองไฟที่ลุกโชนได้โดยไม่ไหม้ นับเป็นปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง พิธีลุยไฟนี้ได้สร้างความตื่นเต้นต่อผู้ชมมาก ซึ่งปัจจุบันได้สร้างอัฒจันทร์ให้ผู้ชมนั่งชมได้สะดวกเมื่อเสร็จพิธีลุยไฟก็อัญเชิญองค์พระทุกองค์เข้าประดิษฐานในศาลเจ้าเล่งจูเกียงตามเดิม แล้วก็ได้เวลาเดินทางกลับหาดใหญ่เพื่อนั่งเครื่องกลับกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ
เรื่อง/ภาพ...อนุรักษ์ มงคลชัยประทีป/พรพรรณ ท้าวกาหลง



‘สดช.’ เผยผลสำรวจการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล และระดับความรู้ด้านดิจิทัล เป็นครั้งแรก


สดช.เผยผลสำรวจการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล และระดับความรู้ด้านดิจิทัล เป็นครั้งแรก




กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. จัดประชุมสัมมนาเรื่อง ยกระดับสถานการณ์แข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย : การพัฒนาที่ผ่านมา โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “The State of Digital Thailand : สถานะดิจิทัลประเทศไทย ว่า จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ของไทย พบว่าไทยมีสถานะที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 44 ในปี 2557 เป็นอันดับที่ 39 ในปี 2561 และการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 โดย World Economic Forum ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาใน

มิติเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ไทยมีอันดับที่ดีขึ้น จาก อันดับที่ 40 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ ในปี 2561
นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีการขยายตัวของการใช้งานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์มือถือ และสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลให้มากขึ้น รวมถึงสร้างความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในระดับสากล


ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีการสำรวจและประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศของประชาชน โดยมี สดช. เป็นผู้ดำเนินงาน มีคะแนนเฉลี่ย 68.1 จัดอยู่ในระดับ ดีประเมินได้ว่าประชาชนมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเปิดรับสื่อสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้ และมีคะแนนเฉลี่ย 63.7 จัดอยู่ในระดับ พื้นฐานสำหรับความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้ แต่ยังขาดพื้นฐานด้านจริยธรรม กฎ ระเบียบ และความปลอดภัย ซึ่งต้องพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลในอนาคต



ด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สดช. สำรวจและวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการศึกษาและกำหนดแนวทางการวัดที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคดิจิทัลของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางทิศทางและยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ


ในระยะต่อไป สดช. วางแผนว่าจะวางกลไกการติดตาม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเปิดเผยชุดข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นข้อมูลเปิด (Open data) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ได้นำข้อมูลไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

หนาวนี้แอ่วลำปาง เที่ยว “เชียงราย แต้ แต้” แวะฮิโนกิแลนด์ ญี่ปุ่น@เชียงใหม่


หนาวนี้แอ่วลำปาง เที่ยว เชียงราย แต้ แต้แวะฮิโนกิแลนด์ ญี่ปุ่น@เชียงใหม่



การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย ร่วมกับ บริษัทเมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จัดทริปท่องเที่ยว หนาวนี้ที่ลำปาง เชียงราย แต้ แต้ เชียงใหม่ นำนักท่องเที่ยวกว่า 100 คน นั่งรถไฟขบวนพิเศษ อุตราวิถีตู้นอนปรับอากาศมุ่งหน้าสู่จ.ลำปาง เมื่อไปถึงลำปางเวลา 05.00 น. พวกเราก็เปลี่ยนไปนั่งรถตู้วีไอพี เดินทางไปที่วัดพระธาตุดอยพระฌาน อ.แม่ทะ เป็นวัดที่งดงามตั้งอยู่บนยอดดอยพระฌาน 
วัดพระธาตุดอยฌาน ไอที rakfungthon
วัดพระธาตุดอยฌาน
เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น ชมทิวทัศน์ตัวอ.แม่ทะและทุ่งนากว้างใหญ่ มีฉากหลังเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มองเห็นสะพานสีขาวทอดข้ามอ่างเก็บน้ำอยู่ลิบๆ ท่ามกลางทะเลหมอกอากาศเย็นสบาย พระอาจารย์พรชัย อคฺควํโส เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน เล่าว่าท่านได้นิมิตว่ามีคนบอกให้ท่านจำพรรษาที่มีพระธาตุสีขาวที่จังหวัดลำปาง จากนั้นปี 2551 ท่านได้ขึ้นมาสำรวจบนดอยพระฌาน ได้พบบ่อน้ำและศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเล็ก จนมาพบองค์พระธาตุสีขาว ยอดพระธาตุบุแผ่นทองจังโก้ และในปี 2552 ท่านก็ได้เริ่มบูรณะพื้นที่และก่อสร้างวัดพระธาตุดอยพระฌานจนกลายเป็นวัดที่งดงามดั่งเช่นในปัจจุบัน เมื่อแสงแดดสาดส่องทำให้พวกเราเห็นความสวยงามของวัดพระธาตุดอยพระฌาน จากลานด้านหน้ามีบันไดนาคที่ทอดตัวขึ้นไปยังพระวิหาร ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพตในซุ้มเรือนแก้วสีทองอร่าม
วัดพระธาตุดอยฉาน ไอที rakfungthon
สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพต
ภายในวิหารยังประดับด้วยงานแกะสลักปิดทองที่งดงามอ่อนช้อย โดยเฉพาะชิ้นงานแกะสลักเหนือบานประตูฝั่งตรงข้ามกับพระประธานที่เป็นรูปพญานาคกระหวัดเกี่ยวรอบองค์พระธาตุสีขาวนั้นถือได้ว่าวิจิตรงดงาม เมื่อกราบพระประธานเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็เดินออกมาทางด้านหลังจะพบกับความงามของ
ต้นโพธิ์สีทอง ที่วาดลวดลายลงบนตัววิหารที่มีพื้นสีดำ


วัดพระธาตุดอยฉาน ไอที rakfungthon


และที่ด้านหลังพระวิหารก็คือองค์พระธาตุดอยพระฌานที่มีมาแต่ดั้งเดิม เป็นพระธาตุเจดีย์สีขาวสะอาดที่มีปลียอดและฉัตรสีทอง ยามเมื่อสะท้อนกับแสงแดดยามเช้าจะเป็นภาพที่สวยงาม สร้างความอิ่มเอิบให้กับหัวใจ เมื่อพวกเราก้มกราบสักการะองค์พระธาตุเรียบร้อยแล้วเดินลงบันไดมาก็จะพบกับศาลาเฉลิมพระเกียรติและศาลาพระเจ้าห้าพระองค์และในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 (เดือน 9 ของทางเหนือ) ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีประเพณีขึ้นดอยพระฌาน สักการะพระธาตุ

จากนั้นก็เดินทางไปยังบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน ในอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่เกิดทางธรณีวิทยา ตั้งอยู่รวมกันจำนวน 9 บ่อท่ามกลางโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มีไอน้ำลอยกรุ่น พร้อมกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ โชยขึ้นมาจากบ่อ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และ ไข่นกกระทามา แช่สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลว เมื่อนำมาปรุงเป็นยำไข่แช่น้ำแร่ จะเป็นเมนูขึ้นชื่อ อร่อยยิ่งนัก พวกเราบางคนอยากแช่น้ำแร่ก็ตรงไปยังแอ่งน้ำอุ่นที่ตั้งอยู่ติดกับบ่อน้ำพุร้อน เป็นแอ่งน้ำแร่ที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อนทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่น ที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การแช่อาบ ส่วนคนที่ต้องการเป็นส่วนตัวที่นี่ก็มีห้องอาบน้ำแร่ สำหรับ 3-4 คน เป็นห้องรวมแบบตักอาบและบ่อสำหรับแช่อาบกลางแจ้ง น้ำแร่ที่ใช้ต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน มีอุณหภูมิน้ำแร่ประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถใช้แช่อาบได้ การอาบน้ำแร่มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ช่วยบำบัดความเมื่อยล้า ช่วยให้ระบบไฟหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน และยังช่วยบรรเทาอาการของโรคเกี่ยวกับกระดูก แต่น้ำแร่จากที่นี่ไม่สามารถใช้ดื่มได้ เพราะมีแร่ธาตุบางชนิดสูงกว่ามาตรฐาน
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ไอที rakfungthon
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง

 แล้วก็ได้เวลาอำลานครลำปางแวะจังหวัดพะเยา เพื่อสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพะเยา ถนนเลียบกว๊านพะเยา อ.เมืองพะเยา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างพากันมาไหว้ขอพร พ่อขุนงำเมืองเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองภูกามยาว ลำดับที่ 9 (1801-1841) ในยุคของพระองค์เป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก มีการเล่าขานต่อกันมาว่า ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปทางไหน "แดดก็บ่อฮ้อน ฝนก็บ่อฮำ จักให้แดดก็แดด จักให้บดก็บด" นั่นจึงเป็นที่มาของพระนามว่า "งำเมือง" นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นสหายร่วมสาบานกับพ่อขุนเม็งรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยอีกด้วย ซึ่งทั้ง 3 พระองค์ก็ได้เคยกระทำสัตย์ต่อกัน ณ แม่น้ำอิง บริเวณสถานีประมงน้ำจืดพะเยาในปัจจุบัน
กว๊านพะเยา ไอที rakfungthon
กว๊านพะเยา

จากนั้นพวกเราก็เดินข้ามมาอีกฟากถนนเพื่อชมทัศนียภาพที่สวยงามของกว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 4 ของประเทศไทย   ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพะเยา เป็นทั้งแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือตอนบน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะในยามเย็นจะชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงามมาก นักท่องเที่ยวจะนิยมมาล่องเรือชมบรรยากาศ  รวมถึงชมวัดติโลกอารามที่จมอยู่ใต้กว๊านพะเยาอีกด้วย

วัดร่องขุ่น ไอที rakfungthon
วัดร่องขุ่น 
ชมความสวยงามของกว๊านพะเยาแล้ว พวกเราก็เดินทางไปวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงรายทันที วัดร่องขุ่นเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรเอกของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก 3 สิ่งต่อไปนี้คือ ชาติ ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ศาสนา ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนั้นอาจารย์จึงได้สร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน โดยปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ เมื่อไปถึงพกเราก็จะเห็นพระอุโบสถสีขาวที่วิจิตรตระการตา ประดับด้วยกระจกแวววาวบนปูนปั้นเป็นลายไทย
วัดร่องขุ่น ไอที rakfungthon

เมื่อเดินเข้าไปภายใน พวกเราก็เดินข้ามสะพาน เหมือนเป็นการเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็กหมายถึง โลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามาร หรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองทิ้งลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตเราให้ผ่องใสถึงจะเดินผ่านขึ้นไป บนสันของสะพานจะประกอบไปด้วยอสูรอมกัน 16 ตัว ข้างละ 8 ตัว อุปกิเลส 16
วัดร่องขุ่น ไอที rakfungthon
 จากนั้นก็จะถึงกึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมระ เป็นที่อยู่ของเทวดา ด้านล่างเป็นสระน้ำ หมายถึง สันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้นด้วยกัน ผ่านสวรรค์ 6 เดินลงไปสู่แผ่นดินของพรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอก รอบอุโบสถ ดอกที่ใหญ่สุด 4 ดอก ตรงทางขึ้นด้านข้างโบสถ์ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ประกอบด้วยพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นสงฆ์สาวกที่เราควรกราบไหว้บูชา และเมื่อเดินเข้าไปในพระอุโบสถเราจะเห็นภาพพระพุทธองค์หลังพระประธานซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่งดงามมาก เหนืออุโบสถที่ประดับด้วยสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปกึ่งช้างกึ่งวิหคเชิดงวงชูงา ดูงดงามแปลกตาน่าสนใจมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถก็เป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เอง

            จากวัดร่องขุ่น พวกเราก็เดินทางมาชมความวิจิตรที่งดงามอีกแห่งหนึ่งที่วัดร่องเสือเต้น ริมแม่น้ำกก  อ.เมือง เป็นหนึ่งในศาสนสถานท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง งดงามด้วยศิลปะแห่งพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ทั้งในเรื่องสถาปัตยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งสีสันเฉดสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองที่ดึงดูดใจ อันเกิดจากการสร้างสรรค์ของนายพุทธา กาบแก้ว (สล่านก) ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ซึ่งเป็นลูกศิษย์อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์


เมื่อเดินเข้าไปภายในวัด จะพบกับความงดงามของประติมากรรมบันไดพญานาคทางขึ้นพระวิหาร ที่มีลักษณะโค้งงอสวยงามและน่าเกรงขามอยู่ในตัว เป็นรูปแบบศิลปะที่ใช้เฉดสีเดียวกัน มีความชดช้อยและลวดลายแตกต่างจากประติมากรรมทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยได้นำเอารูปแบบผลงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้สร้างบ้านดำ จ.เชียงราย ที่มีความโดดเด่นเรื่องเขาและงามาประยุกต์ใช้  โดยเฉพาะช่วงเขี้ยวของพญานาคมีความพลิ้วไหว อ่อนช้อย และเมื่อเดินเข้ามาในตัววิหารที่ถือว่าเป็นทิพยสถาน คือเป็นการสรรเสริญพระพุทธเจ้าทั้งในรูปแบบของประติมากรรมและจิตรกรรม เมื่อคนเข้าไปมีจิตใจดีก็จะรักษาศีลก่อให้เกิดสมาธิ และปัญญาตามมา พวกเราก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับภาพจิตรกรรมฝาผนังอลังการที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ มีลายเส้นสวยงาม โดยใช้เฉดสีน้ำเงินฟ้ามีลวดลายที่อ่อนช้อยงดงาม
พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ

มีพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถสีขาวมุก พระประธาน โดยมีพระรอดลำพูนจำนวน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งบริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จ พระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก รวมทั้งยังได้รับพระราชทานนามพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ ที่หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคล เจ้าในความเป็นราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก นอกจากนั้นด้านหลังวิหารมีพระพุทธรูปสีขาวปางห้ามญาติองค์ใหญ่ประดิษฐานตรงด้านหลัง ถัดไปคือ  "พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีห้าพระองค์" มีความสูง 20 ม. โดยยอดขององค์พระธาตุได้บรรจุพระบรมสาริกธาตุจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก



ตามด้วยวัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเขาและมีเนินเขารายรอบวัดสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เมื่อไปถึงเราจะเห็นองค์เจ้าแม่กวนอิมสีขาวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและพบโชคธรรมเจดีย์ตั้งตระหง่านโดดเด่นมองเห็นมาแต่ไกล วัดห้วยปลากั้งเป็นวัดร้างมาตั้งแต่โบราณกาล ไม่ทราบประวัติการสร้างแน่ชัด ต่อมาพระอาจารย์พบโชค ติสสะวังโส ได้บูรณะและก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นจำนวนมากจึงกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงราย ซึ่งเชื่อกันว่าหากใครได้มาเยือนจะเหมือนกับได้ขึ้นสวรรค์
พบโชคธรรมเจดีย์

เมื่อไปถึงพวกเราก็เดินไปยังพบโชคธรรมเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่สูง 9 ชั้น รูปทรงแปลกตาลักษณะเป็นทรงแหลม ศิลปะจีนผสมล้านนา หลังคาสีแดงมีรูปปั้นมังกรทอดยาวทั้งสองข้างบันได ล้อมรอบด้วยเจดีย์ เล็กๆ 12 ราศี  ชั้นแรกมมีองค์เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพรที่มีขนาดใหญ่แกะสลักด้วยไม้จันทร์หอมที่นำมาจากประเทศจีน อินเดีย พม่า ส่วนชั้น 2 และ 3 เป็นเจ้าแม่กวนอิมปางประทับยืนและปางประทับนั่ง ชั้น 4 ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธโสธร ชั้น 5 เป็นเจ้าแม่กวนอิมปางพันมือ ส่วนชั้น 6 เป็นหลวงปู่โต พรหมรังสีและหลวงปู่ทวด ชั้น 7 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ถือว่าเป็นชั้นสวรรค์ดาวดึงห์ ชั้น 8 เป็นพระสังกัจจายน์ (พระศรีอริยเมตไตรย) เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ความร่ำรวย ประทานทรัพย์ ประทานพร และชั้น 9 พระอิศวร
องค์เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ 



จากนั้นพวกเราก็นั่งรถรางของวัดไปที่องค์เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ ที่ความสูง 79 ม. เทียบเท่ากับตึกสูง 25-26 ชั้น   ซึ่งพระอาจารย์พบโชค ติสสะวังโส สร้างตามนิมิต พวกเราต้องขึ้นลิฟท์ไปที่ชั้น 22-23 ซึ่งภายในเป็นประติมากรรมปูนปั้นสีขาวที่สวยงามมากเป็นองค์เจ้าแม่กวนอิมหลายปาง ซึ่งแต่ละปางก็จะขอพรแตกต่างกันไป เช่น เจ้าแม่กวนอิมปางเภสัช ปางปราบมารสามหน้า ปางประธานยศ-ตำแหน่ง และปางประทานทรัพย์ รวมทั้งเทพโป๊ยเซียน และที่ชั้น 23 ก็เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นภูมิทัศน์ของเชียงราย  นอกจากนี้ภายในวัดยังมีภัตตาคารพบโชค เป็นโรงอาหารสำหรับเด็กกำพร้าและคนชราประมาณ 200 กว่าชีวิตที่พระอาจารย์พบโชคท่านอุปการะเลี้ยงดู และยังมีพบโชคคลินิก ให้บริการรักษาโรคฟรี 
แล้วก็ได้เวลาเดินทางสู่ไร่บุญรอด (สิงห์ปาร์ค) เพื่อร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ ณ ห้องอาหารภูภิรมย์ โดยมีนายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย นายไกรสร กลับทวี ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย นางสาวกรุณา เดชาติวงค์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงราย และนายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย มาให้การต้อนรับ พร้อมร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยว รวมทั้งแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย หลังอิ่มหนำสำราญพวกเราก็เดินทางเข้าโรงแรมคำธนา โคโลเนียลเชียงราย ที่พัก
เช้าวันใหม่ พวกเราเดินทางไปที่โครงการพัฒนาดอยตุง  เริ่มจากพระตำหนักดอยตุง สถานที่ทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้าน พื้นเมืองของสวิส สร้างบนไหล่เนิน มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา มีไม้ดอกไม้ประดับที่ผลิดอกสวยงามตลอดทั้งปี ภายในตำหนักล้วนใช้ไม้สนและไม้ลังที่ใส่สินค้าเป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่สวยงาม และสิ่งที่น่าสนใจคือเพดานดาวภายในท้องพระโรงแกะสลักขึ้นจากไม้สนภูเขาเป็นกลุ่มดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะ ส่วนบริเวณผนังเชิงบันไดแกะสลักเป็นพยัญชนะไทย พร้อมภาพประกอบ ชมสิ่งที่ต้องตาต้องใจของพระตำหนักดอยตุงแล้ว ก็เดินมาชมสวนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนไม้ดอกประดับนานาพรรณ ดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย พิทูเนีย บีโกเนีย กุหลาบ ดอกลำโพง ไม้มงคลต่างๆ รวมทั้งไม้ยืนต้นและซุ้มไม้เลื้อยอีกมากกว่า 70 ชนิด ตรงกลางมีรูปปั้นต่อเนื่องจากฝีมือการปั้นของมีเซียมยิปอินซอย จัดทางเดินไว้เป็นสัดส่วน มีศาลาชมวิวและร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก  และในบริเวณใกล้กับสวนแม่ฟ้าหลวงจะมีหอพระราชประวัติ ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากนั้นก็เดินทางต่อไปสักการะพระธาตุดอยตุง ที่วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (วัดพระธาตุดอยตุง) ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออ.แม่จัน) พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่พระเจ้าอชุตราช ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ต่อมาในสมัยพญามังราย แห่งราชวงศ์มังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พระองค์จึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นเป็นต้นมาพระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้  ต่อมาได้มีการบูรณะองค์พระธาตุครั้งใหญ่  โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (พระบรมโอรสาธิราชในขณะนั้น) เสด็จมาเป็นองค์ประธานเททอง  ในการบูรณะครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์ บุด้วยกระเบื้องโมเสดสีทอง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ซุ้ม มีฉัตรประดับทั้ง 4 มุม ดังที่เห็นปรากฏในทุกวันนี้
ได้บุญกุศลกันถ้วนหน้า ก็ได้เวลาเดินทางไปดอยผาฮี้ อ.แม่สาย เราต้องผ่านดอยช้างมูบ ที่มีฐานปฎิบัติการทางทหารดอยช้างมูบ เป็นเขตชายแดนระหว่างไทยกับพม่า จากฐานปฏิบัติการไปดอยผาฮี้ ระหว่างทางเราจะเห็นดอกซากุระเมืองไทย (ดอกนางพญาเสือโคร่ง) ออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งเต็มทิวเขาสวยงามมาก แล้วก็ถึงดอยผาฮี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนเขาเผ่าอาข่าบ้านผาฮี้ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการปลูกใบชาและกาแฟ เมื่อก่อนที่นี่เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น จนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เข้ามาเปลี่ยนความคิดของชาวเขาซึ่งเป็นราษฎรของพระองค์ โดยพระองค์ได้ทรงแนะนำ รวมทั้งผลักดันอาชีพปลูกกาแฟ จนเป็นรายได้หลัก ตั้งแต่พวกเราเดินเข้ามาที่หมู่บ้านแห่งนี้ เราจะเห็นเมล็ดกาแฟและใบชาที่ชาวบ้านนำมาตากแห้งไว้รอนำไปคั่วอีกครั้ง จึงไม่แปลกใจเลยที่หมู่บ้านผาฮี้แห่งนี้จะเต็มไปด้วยร้านกาแฟหลากหลายร้านเช่นกัน แต่ร้านกาแฟที่เราจะพาทุกคนไปคือร้านกาแฟผาฮี้ ที่มีความพิเศษที่ถือว่าเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของบ้านผาฮี้ นั่นก็คือความที่เป็นร้านกาแฟบ้านๆ แต่มีวิวระดับโลกอยู่เบื้องหน้านั่นเอง ซึ่งถือเป็นมุมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ เพราะจากที่ตั้งของร้านนี้จะมีโซนให้นั่งห้อยขาชมวิวบรรยากาศแบบพาโนรามาซึ่งห้อมล้อมไปด้วยขุนเขาที่อุดมสบูรณ์ไปด้วยป่าไม่เขียวขจี มีลมพัดผ่านเย็นสบาย กาแฟหอมๆ สักถ้วย นั่งห้อยขาทอดบรรยากาศ ดื่มด่ำกับความสุขของการเดินทาง เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายถึงความสุขนี้จริงๆ ส่วนอีกหนึ่งร้านคือร้านผาฮี้ เมาท์เท่น วิว อีกหนึ่งร้านกาแฟวิวสวยที่อยู่สูงขึ้นมาจากร้านกาแฟผาฮี้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่ารูปภาพมุมสวยๆ ที่คุณจะได้รับจะต้องเป็นมุมที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครแน่นอน จากจุดนี้ทำให้เราได้เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านถึงบอกว่าหมู่บ้านของตัวเองนั้นได้รับสมญานามว่าเป็น มาชูปิกชูของเมืองไทยก็เพราะว่าเมื่อมองลงไปที่หมู่บ้านจากมุมสูงนั้นจะเห็นบ้านนับสิบหลังที่ตั้งเรียงรายกันไปตามไหล่เขา โอบล้อมไปด้วยภูเขาใหญ่ มองดูคล้ายกับมาชูปิกชูมากๆ ดื่มด่ำกับความหอมของกาแฟจนพอใจ ก็ได้เวลาเดินเล่นในหมู่บ้าน ผ่านลานสาวกอดที่เป็นที่ตั้งของชิงช้าเผ่าอาข่าประจำหมู่บ้าน สามารถมายืนชมวิวกันในจุดนี้ได้ เพราะลานนี้มีความโล่งไม่มีต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ เดินไปอีกนิดก็จะมีตลาดชาวเขาให้นักท่องเที่ยวได้เดินเลือกซื้อของกินของใช้ และจุดสุดท้ายของเราที่บ้านผาฮี้นั้นก็คือประตูผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าประตูผีนี้จะคอยคุ้มกันและขจัดสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านนั่นเอง นับได้ว่าหมู่บ้านผาฮี้แห่งนี้มีความงดงามทางด้านวัฒนธรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในความงดงามของธรรมชาติ
ชมวิวจนเต็มอิ่ม พวกเราก็เดินทางต่อไปที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่โด่งดังจากภารกิจกู้ภัย 13 ชีวิตหมูป่าอะคาเดมี เมื่อไปถึงนายกวี ประสมพล หัวหน้าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานก็มาให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ 13 ชีวิตหมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำ รวมทั้งภารกิจกู้ภัย จากนั้นก็พาไปชมอนุสาวรีย์จ่าแซม-นาวาตรีสมาน กุนัน ฮีโร่ถ้ำหลวงซึ่งหล่อด้วยโลหะบรอนซ์ ตามด้วยภาพวาดเดอะฮีโร่ ภาพประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์และบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการร่วมค้นหาและช่วยเหลือนักเตะเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยศิลปินขัวศิลปะเชียงรายกว่า 300 ชีวิต นำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ช่วยกันวาดขึ้น จากนั้นก็พาไปชมปากถ้ำหลวง-ขุนนางนอน ถ้ำหลวง-ขุนนางนอนเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่มีความยาวมากกว่า 7 กม. ถือเป็นถ้ำที่มีความยาวมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย ภายในถ้ำจะพบกับความงามของเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด แต่การเดินทางเข้าไปชมนั้นค่อนข้างลำบากทีเดียว ควรมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยทุกครั้ง โดยจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ คือโถงถ้ำ มีอยู่ 3 โถงด้วยกัน คือโถงปากถ้ำ โถงที่ 2 และ 3 นครบาดาล โถงพัทยาบีชที่ จุดเนินนมสาวที่ทีมกู้ภัยพบทั้ง 13 ชีวิต โถงลับแล และยังมีจุดต่างๆ ให้แวะชม เช่น ท้องฟ้าจำลอง เขาวกวน ถ้ำกระดูก เจดีย์ทราย มงกุฎเพชร ลานเพลิน บ่อน้ำทิพย์ หินย้อยรูปสไบ นครลอยฟ้า ฯลฯ
                ตามรอย13 ชีวิตหมูป่าอะคาเดมีแล้ว พวกเราก็เดินทางต่อไปที่ไร่ชาฉุยฟง อ.แม่จัน ไร่ชาเก่าแก่กว่า 500 ไร่ ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติและทิวเขาที่สวยงาม เมื่อเรามาถึงด้านหน้าไร่ชาฉุยฟง ก็จะเห็นแลนด์มาร์คที่สวยงาม เป็นไร่ชาที่ปลูกลดหลั่นเป็นขั้นบันไดบนภูเขาสูง พอขึ้นไปด้านบนก็จะถึงฉุยฟง ที คาเฟ่ เป็นอาคาร open air ที่เป็นลานกว้าง ซึ่งเราสามารถเดินขึ้นไปถ่ายรูปวิวสวยๆ ของ ไร่ชาที่โค้งไปตามไหล่เขาที่ลดหลั่นเป็นขั้นบันไดแบบพาโนรามา ดูสวยงามมากๆ และที่นี่ยังให้บริการเครื่องดื่ม ชาเขียว เบอเกอรี่ ไอศกรีม และเป็นจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของทางไร่ชาด้วย
ปิดท้ายด้วยการไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยไม่ต้องบินไปถึงญี่ปุ่น ที่ฮิโนกิแลนด์ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ อาณาจักรไม้ฮิโนกิแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างเป็นเมืองจำลองแบบญี่ปุ่นขนานแท้ เริ่มจากอาคารซุ้มประตูทางเข้าที่จำลองประตูอสุนีของศาลเจ้าอาซากุสะที่โตเกียว โดดเด่นด้วยโคมสีแดง เขียนด้วยตัวอักษรสีดำว่า “คามินาริ” ซึ่งเป็นชื่อของประตูตามต้นแบบ พ้นจากโถงต้อนรับก็จะพบกับอุโมงค์เสาโทริอิจำลอง จำนวน 88 ต้น ซึ่งอุโมงค์จะพาไปบรรจบกับลานด้านหน้าปราสาทฮิโนกิ ที่สร้างขึ้นจากไม้สนฮิโนกิทั้งหลังตามแบบปราสาทดั้งเดิมของโชกุน ที่จำลองมาจากปราสาททองคินคาคุจิในเมืองเกียวโตด้วยสัดส่วน 1 ต่อ 3 (ปราสาทจำลองมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทของจริงถึง 3 เท่า) มีทั้งหมด 4 ชั้น ที่ชั้นบนของปราสาทประดิษฐานขององค์เจ้าแม่กวนอิม (แกะสลักจากไม้สนฮิโนกิ) ภายในอบอวลด้วยกลิ่นหอมจากน้ำมันในเนื้อไม้ ขณะที่พื้นผิวสีทองอร่ามและความเนียนเรียบบนพื้นผิวที่ห่อหุ้มลวดลายธรรมชาติของเนื้อไม้ก็สร้างสุนทรียภาพในแทบทุกโสตสัมผัสขณะเหยียบย่างอยู่ภายในอาคาร ด้านข้างของปราสาทยังเป็นบ่อปลาคาร์ป และอาคารแสดงสินค้าจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
เรื่อง/ภาพ...อนุรักษ์ มงคลชัยประทีป/พรพรรณ ท้าวกาหลง
                               ID.Line ..rakphoto
                                                             Website..www.daosiamnews.com

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาส

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาส  ในโครงการส่งเสริ...