เที่ยวปัตตานี ชมมัสยิดกรือเซะเรียนรู้อารยธรรมปัตตานี
ร่วมงานกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว
วันนี้ผมได้รับเชิญให้ไปร่วม "งานกตัญญูคู่ฟ้า
มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี" จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี ผมก็ตัดสินอยู่นานว่าจะไปดีหรือไม่ไปดี
เพราะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนจังหวัดภาคใต้
ที่หลายคนรวมทั้งผมด้วยก็คงต้องนึกถึงอันตรายที่มีขึ้นไม่เว้นแต่ละวันแต่ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าและบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทำให้ผมตัดสินใจรับคำเชิญ เมื่อไปถึงจังหวัดปัตตานี อาจารย์อรรถพร
อารีหทัยรัตน์ มัคคุเทศก์เฉพาะท้องที่ปัตตานีก็มาคอยต้อนรับเราที่สนามบินหาดใหญ่
แล้วนำเราเดินทางสู่จังหวัดปัตตานีทันที ระหว่างทางทั้งคู่ก็บรรยายเรื่องราวต่างๆ
ที่น่าสนใจ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองปัตตานี เมื่อไปถึงจังหวัดปัตตานี
ผมถึงรู้ว่าจังหวัดนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าวเลยหรืออย่างที่ผมคิดไว้เลยสักนิด
กลับเป็นเมืองที่เงียบสงบ แฝงความอบอุ่น คนในท้องถิ่นก็อัธยาศัยไมตรีดี
เจอปุ๊บก็จะยิ้มแย้มต้อนรับแบบเป็นกันเอง
จุดแรกที่พวกเราไปคือศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานีเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดปัตตานี เมื่อมาถึงที่นี่เจ้าหน้าที่สาวสวยก็จะนำเราไปชมวีดีทัศน์บรรยายสรุปเกี่ยวกับเมืองปัตตานี
จากนั้นก็จะพาไปยังห้องชุมชนท่องเที่ยวปัตตานี ที่แสดงแหล่งชุมชนท่องเที่ยว 10
ชุมชน ผ่านโมเดลรูปแบบต่างๆ ได้แก่ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาวชุมชนที่มีความงดงามและอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ
มีน้ำตกทรายขาว ผาพญางู และเทือกเขาสันกาลาคีรี รวมทั้งยังมีกิจกรรมนั่งรถจี๊ปชมสวนผลไม้
นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์ วัดทรายขาว มัสยิด 300 ปี,ชุมชนท่องเที่ยวยะรัง
โบราณสถานกลางสวน ก็มีเมืองโบราณยะรัง เป็นที่ตั้งของลังกาสุกะในอดีตและยังมีของอร่อยที่ขึ้นชื่อคือลูกหยีกวน,
ชุมชนท่องเที่ยวยะหริ่ง เบิกฟ้าเปิดวังยะหริ่งสู่อดีตเมืองปัตตานี วังยะหริ่งเป็น 1
ใน 7 หัวเมืองที่ยังคงความสมบูรณ์มากที่สุดที่นี่ยังมีการทอผ้าลายปัตตานี และมีศิลปินแห่งชาติด้านดนตรี
(ไวโอลิน) คือลุงขาเดร์แวเด็ง,ชุมชนท่องเที่ยวบางปู บางสวรรค์นิทานหิ่งห้อย
เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นเรื่องของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
มีป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์มาก ล่องเรือชมป่ายชายเลน ผ่านอุโมงค์โกงกางเลาะตามคลองดาโต๊ะ
ผ่านคลองวอแก คลองกาเร็ง คลองยะหริ่งออกอ่าวปัตตานีแล้วแวะชมนก
ดูหิ่งห้อย สนใจติต่อโทร.0883894508 และ
0869631927,ชุมชนท่องเที่ยวบราโหม ร่องรอยเชื่อมต่ออดีตสู่ปัจจุบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
ที่มีโบราณสถานที่เก่าแก่ร่วม 500 ปี ไม่ว่าจะเป็นสุสานพญาอินทิรา สุสานสุลต่านอิสมาอีลชาห์
เจ้าเมืองพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลามสุสานราชินี 3 พี่น้องคือรายาฮิเยา
รายาบีรู รายาอูงู นอกจากนี้ที่นี่ยังได้ชื่อว่าชุมชนต้มยำกุ้ง
เพราะชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารต้มยำกุ้งที่ประเทศมาเลเซีย, ชุมชนท่องเที่ยวแหลมโพธิ์เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นครอบคลุมการท่องเที่ยว
3 ประเภท ทั้งทางวัฒนธรรม จากสภาพชีวิตชาวประมงที่ออกหาปลาโดยเรือกอและ ทางประวัติศาสตร์
ก็มีสุสานเจ้าเมืองปัตตานีตนกูบือซาร์สุสานโต๊ะบันยัง และมัสยิดดาโต๊ะ
ซึ่งเป็นมัสยิดร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะ ทางธรรมชาติ ณ แหลมตาชี สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้จุดเดียวกัน,
ชุมชนท่องเที่ยวตันหยงลุโล๊ะ ชุมชนที่รวมความศรัทธาสองสายวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะ
สัญลักษณ์ของอาณาจักรปาตานีดารุสสลาม ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวไทยมุสลิม
รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของชาวไทยเชื้อสายจีน,ชุมชนท่องเที่ยวตุยง เที่ยววัด
ชมวังประวัติศาสตร์ด้านหนึ่งของปัตตานี มีวังตุยง 1 ในวัง7 หัวเมืองที่ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังมีวัดมุจลินทวาปีวิหารหรือวัดตุยง
ซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่ผ่านการบูรณะมาแล้วหลายสมัย แต่ที่น่าสนใจคือ
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่ามากมาย และที่นี่ยังมีขนมเบื้องญวน
ที่หารับประทานได้ที่นี่ที่เดียว, ชุมชนท่องเที่ยวจะบังติกอ วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนมุสลิม
มีวังจะบังติกอ 1 ในวัง 7 หัวเมือง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสุลต่านอับดุลกอเดร์
สุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานีรวมทั้งมีกูโบร์โต๊ะอาเย๊าะห์
สถานที่ฝังพระศพเจ้าเมืองและเชื้อสายพระวงศ์ นอกจากนี้ยังมัสยิดรายอฟาฏอนีหรือมัสยิดจะบังติกอที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของถนนสายรอมฏอนเนื่องจากมีมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี,ชุมชนท่องเที่ยวน้ำบ่อ
หาดงามกับวิถีประมงพื้นบ้าน เป็นชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นั่นคือหาด......เป็นชายหาดที่มีเม็ดทรายสีทอง
นอกจากนี้ยังมีวิถีประมงพื้นบ้าน การทำปลากะตักแห้งตามชายหาดเมื่อรู้ถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีมากมายแล้ว
พวกเราก็เดินไปที่ห้องพหุวัฒนธรรม เป็นห้องที่จำลองสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของปัตตานีไว้
3 วัฒนธรรมคือ วัฒนธรรมไทย-มุสลิม วัฒนธรรมไทยพุทธ และวัฒนธรรมไทย-จีน
แล้วก็ถึงห้องสุดท้าย ห้องอารยธรรมปัตตานี เป็นห้องที่จัดแสดงถึงชาติพันธุ์ของชาวปัตตานีในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ผ่านวีดีทัศน์และภาพเขียนสีน้ำมันที่สวยงาม และยังจัดแสดงประเพณีแต่งงานของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู
จากนั้นพวกเราก็เดินออกจากศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานีไปยังมัสยิดกรือเซะที่อยู่ถัดไปด้านข้างนิดหน่อย หลายคนคงรู้จักมัสยิดกรือเซะกันเป็นอย่างดีจากข่าวโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 หรือที่รู้จักกันดีใน "เหตุการณ์กรือเซะ"เป็นการปะทะกันดุเดือดกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งก่อความสูญเสียชีวิตผู้คน 34 ชีวิตทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ตามประวัติว่าในสมัยเจ้าหญิงฮิเยา เจ้าหญิงบีรู เจ้าหญิงอูงู และเจ้าหญิงกูนิงครองเมืองปัตตานี ระหว่างปีพ.ศ.2127-2230 มัสยิดกรือเซะเป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สวยงามภายในมีลวดลายอันวิจิตร บนยอดโดมของมัสยิดกรือเซะหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ยังไม่ถูกทำลาย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยบางส่วนและประวัติศาสตร์ของชาวมลายูบันทึกว่าสาเหตุที่มัสยิดกรือเซะเสียหายเพราะโดนกองทัพจากกรุงสยามเข้าตีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.2328 ครั้งที่กองทัพสยามเข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ทหารสยามได้ระดมยิงปืนใหญ่จนเมืองพระราชวังตลอดจนมัสยิดเสียหาย และเมื่อทหารสยามรบชนะก็ได้ทำการเผามัสยิดเพื่อลอกเอาเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มบนโดมมัสยิดกรือเซะอันสวยงามแห่งนี้ไปดังนั้นมัสยิดกรือเซะจึงไม่ได้ถูกฟ้าผ่าตามคำสาปแช่งของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยวดั่งที่ตำนานว่าเมื่อนางไม่สามารถชวนลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้เป็นพี่ชายกลับเมืองจีนเพื่อไปดูแลแม่ที่ชราได้ นางจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจตัดสินใจผูกคอตายกับต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้าง พร้อมทั้งได้อาฆาตพยาบาทต่อมัสยิดกรือเซะที่เป็นต้นเหตุให้พี่ชายไม่สามารถกลับเมืองจีนพร้อมกับนางได้ นางจึงได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ขอให้มัสยิดหลังนี้มีอันเป็นไปในทุกๆครั้งที่มีการก่อสร้างหรือสร้างเสร็จ และครั้งใดก็ตามที่ชาวมุสลิมคิดที่จะบูรณะมัสยิดหลังนี้ เมื่อทำการบูรณะเสร็จก็จะโดนฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนชาวมุสลิมไม่กล้าบูรณะมัสยิดหลังนี้อีกต่อไปและปล่อยให้มัสยิดรกร้างตั้งแต่นั้นมา ด้วยเพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิฤทธิ์ของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยว หรือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปัจจุบันหรือหากมีฟ้าผ่ามัสยิดกรือเซะบ้างก็เพียงเพราะเหตุที่โดมมัสยิดห่อหุ้มด้วยทองคำและในสมัยนั้นไม่มีสายล่อฟ้า มัสยิดกรือเซะได้ถูกกรมศิลปกรตีทะเบียนเป็นโบราณสถาน ชมความเก่าแก่พร้อมเก็บภาพของมัสยิดกรือเซะจนพอใจ
ก็เดินต่อไปอีกนิดก็จะเป็นสุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ นำศพลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวฝังไว้ทำเป็นฮวงซุ้ยที่หมู่บ้านกรือเซะ เล่ากันว่า ลิ้มก่อเหนี่ยวได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นเสมอ จนเป็นที่เลืองลือไปทั่ว เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชา พร้อมกับขนานนามว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”ปรากฏว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ แล้วก็บังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆต่อมาพระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย ต้นสกุลคณานุรักษ์) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ไม่สะดวกในการประกอบพิธี จึงทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”มากระทั่งทุกวันนี้ จากนั้นก็เดินทางไปชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 ใช้เวลาดำเนินการสร้างประมาณ 9 ปีเป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใตที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมผสานกับแบบสถาปัตยกรรมอินเดีย มีลักษณะรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลในอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่าบริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถงมีระเบียงสองข้าง ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบเป็นที่สำหรับคอฏีบยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์ ปัจจุบันขยายด้านข้างออกไปทั้ง 2 ข้างและสร้างหออะซาน พร้อมขยายสระน้ำและที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม
ชมความสวยงามของทัชมาฮาลเมืองไทย ก็ได้เวลาไปร่วมพิธีเปิดงานกตัญญูคู่ฟ้า
มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวณ บริเวณศาลเจ้าเล่งจูเกียง พร้อมชมการแสดงชมการแสดงทางวัฒนธรรมจากนักเรียน
มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อุปรากรจีน (งิ้ว) มโนราห์ ฯลฯ จากนั้นเดินทางไปยังเชิงสะพานเดชานุชิต ริมแม่น้ำปัตตานี ชมการแสดงประกอบแสง
สี เสียง และสื่อผสม เรื่อง “เรืองอารยะปัตตานี
บารมีลิ้มกอเหนี่ยวสถิต ศรัทธาศาสนิกสัมพันธ์ ภูมิบดีพระปรมินทร์แผ่นดินสยาม”ก่อนเดินทางกลับโรงแรม ซี เอส ที่พัก
รุ่งอรุณเบิกฟ้า พวกเราต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินทางไปยังศาลเจ้าเล่งจูเกียง
ศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดปัตตานีมาตั้งแต่โบราณ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2117
ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา
แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด เพื่อร่วมงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งจัดขึ้นหลังจากวันตรุษจีน
15 วัน คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เมื่อไปถึงเราจะเห็นประชาชนจากทั่วสารทิศที่นับถือองค์เจ้าแม่
มายืนรอกันจนแน่นขนัด จนได้เวลาตามฤกษ์ ปีนี้เป็นเวลา 05.30 น.ก็จะเริ่มการอัญเชิญองค์เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว
พระหมอองค์ประธานในศาล พร้อมด้วยพระหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้า ได้แก่ เจ้าแม่กวนอิม
เจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้ากวนอู พระแป๊ะกง เทพตั่วเล่าเอี้ย– ไท้ส่วยเอี๊ยไฉ่ซิ้งเอี๊ย
รวม 25 องค์ โดยชายหนุ่ม 4 คน จะหามเกี้ยวเริ่มทยอยออกจากศาลเจ้า
โดยธรรมเนียมปฏิบัติ องค์ประธานพระหมอจะเป็นคานหามนำ
ตามด้วยคานหามเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นอันดับ 2 แล้วจึงต่อด้วยคานหามพระองค์อื่นๆ
ขบวนคานหาม ตามความเหมาะสมแห่ทั่วเมืองปัตตานี ถ้าใครได้หามเกี้ยวจะถือว่าได้บุญเป็นพิเศษ
จึงมีผู้คนแย่งกันหามเกี้ยวกันหามมากมายโดยจะแห่ไปตามถนนต่างๆ รอบเมือง
พร้อมกับมีการเชิดสิงโต แห่ธงทิว คณะดนตรีบรรเลง ตีฉิ่ง ตีกลอง ท่ามกลางเสียงกลอง และเสียงประทัดประดังจนแสบแก้วหูตลอดทางแวะเข้าไปในบ้านที่ตั้งโต๊ะกระถางธูปเทียนไว้หน้าบ้าน
เพราะถ้าบ้านใดตั้งโต๊ะไว้เช่นนี้แสดงว่าต้องการอัญเชิญพระเข้าไปในบ้าน
เพื่อความสิริมงคลทำมาค้าขึ้น เมื่อขบวนแห่ไปถึงเชิงสะพานเดชานุชิต(สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี)
เราจะเห็นประชาชนจำนวนมากมารอชมองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและองค์พระ 25 องค์ ทำพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานีกันเนืองแน่นทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
รวมทั้งบนสะพานเต็มไปหมดพระหมอ เจ้าแม่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและองค์พระรวม 25 องค์จะลงลุยน้ำทั้งคนหามและพระลอยไปข้ามแม่น้ำปัตตานี
เมื่อเสร็จจากการลุยน้ำแล้วก็จะแห่พระต่อไปรอบเมือง เพื่อระลึกถึงเจ้าแม่ในอดีตที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยความลำบาก
ตามหาพี่ชายถึงเมืองปัตตานี จากนั้นก็จะแห่เยี่ยมเยียนประชาชนรอบเมืองอีกก่อนที่จะกลับไปยังศาลเจ้าเพื่อกระทำพิธีกรรมหามพระลุยไฟ
อันเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดยอดของงาน คนที่จะหามพระลุยไฟได้ต้องทำ ร่างกายให้สะอาด
งดเว้นเกี่ยวข้องกับสตรีเพศอย่างเด็ดขาด
บางคนจึงมานอนค้างที่ศาลเจ้าโดยนอนเฝ้าคานหามตลอดคืนเพื่อให้ร่างกายสะอาดอย่างแท้จริง
และเป็นการเฝ้าคานหามมิให้ผู้อื่นแย่งไปหามก่อนตนด้วยกองไฟได้ถูกก่อด้วยถ่านไฟรอไว้กลางลานดินหน้าศาลเจ้า
กองพูนสูงเทียมหัวเข่า มีพนักงานคอยกระพือพัดให้ไฟลุกแดงจนได้ที่ เมื่อได้เวลาน้ำมนต์จากโอ่งมังกรใบใหญ่ถูกนำมาราดรดผู้หามคานหามจนชุ่มโชก
เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแล้วแล้วคนหามทั้ง 4จะอัญเชิญพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) เป็นองค์แรก
เดินลุยฝ่า เข้าไปในกองไฟด้วยเท้าที่เปลือยเปล่า โดยมีพระองค์อื่นๆ ลุยไฟตามบริเวณหน้าศาลเจ้า
การลุยไฟนี้พระองค์หนึ่งๆ จะลุยไฟกี่เที่ยวก็ได้
คนหามพระสามารถเดินเหยียบผ่านบนกองไฟที่ลุกโชนได้โดยไม่ไหม้ นับเป็นปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง
พิธีลุยไฟนี้ได้สร้างความตื่นเต้นต่อผู้ชมมาก ซึ่งปัจจุบันได้สร้างอัฒจันทร์ให้ผู้ชมนั่งชมได้สะดวกเมื่อเสร็จพิธีลุยไฟก็อัญเชิญองค์พระทุกองค์เข้าประดิษฐานในศาลเจ้าเล่งจูเกียงตามเดิม
แล้วก็ได้เวลาเดินทางกลับหาดใหญ่เพื่อนั่งเครื่องกลับกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ
เรื่อง/ภาพ...อนุรักษ์
มงคลชัยประทีป/พรพรรณ ท้าวกาหลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น