วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตฯและนักวิชาการหลากสาขาชี้ การรู้จักใช้เคมีอย่างถูกต้องและการบริหารจัดการเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม คือ หัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศในอนาคต


กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตฯและนักวิชาการ

หลากสาขาชี้การรู้จักใช้เคมีอย่างถูกต้องและ

การบริหารจัดการเคมีอย่างรับผิดชอบ

ต่อสังคม คือ หัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

และพัฒนาประเทศในอนาคต

        กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมนักวิชาการจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความเห็นบนเวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” ชี้ เคมีสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า เผยไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่าแนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต

           นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า เพื่อที่จะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสารเคมี การจัดการสารเคมีตามหลักสากล ในด้านการผลิตและการใช้สารเคมีอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำของหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก อาทิ ปิโตรเคมี พลาสติก ยา เกษตร อาหาร ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ                 โดยมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ ในปี 2562 มูลค่ากว่า 1 แสน 2 พันล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ และมีการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภค-บริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นลำดับที่ 4 ของสินค้าที่มีการนำเข้าของไทย ดังนั้น สารเคมีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ นับแต่ลืมตาตื่นนอนจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรุงอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นผลิตผลมาจากสารเคมี หรือปฏิกิริยาทางเคมีทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในภาคเกษตรกรรมยังมีการนำไปใช้สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์อีกด้วย ซึ่งในทางกลับกันหากใช้สารเคมีอย่างผิดวิธีก็อาจนำมาสู่ผลกระทบในแง่ลบต่อการดำรงชีวิตในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและการบริหารจัดการสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง งานเสวนาในครั้งนี้เราได้เชิญนักวิชาการหลากหลายภาคส่วนมาร่วมให้ความเห็นในบทบาท “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” เพื่อให้สังคมได้มองเห็นแง่มุมทั้ง 2 ด้านของเคมีและมีความเข้าใจการใช้เคมีอย่างถูกต้อง

      นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ / กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจากองค์กรทั้งภาครัฐ  และเอกชน มาร่วมให้ความเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการเคมีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เคมีของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมุ่งเน้นการใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมกันนี้ ยังได้หยิบยกกรณีศึกษา การแบน 3 สารเคมี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจของสังคมขณะนี้มาพูดคุยและเสนอมุมมองที่น่าสนใจให้สังคมได้พิจารณาอีกด้วย  

             โดยในงานนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาซเคมโลจิสติกส์แมเนจเมนท์ จำกัด ประธานกลุ่ม Responsible care ® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผู้เชี่ยวชาญ Green Chemistry, ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานสารตกค้างทางการเกษตร JMPR (FAO/WHO) และอดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร, ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร, ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย วนานุกูล  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี

         ในงานเสวนาครั้งนี้ มีผู้เข้ารับฟังจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐ กลุ่มผู้ผลิต ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน จำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นและมุมมองของนักวิชาการที่ให้เกียรติมาในวันนี้ จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจในบทบาทของสารเคมี ให้ความสำคัญกับการใช้งานและการบริหารจัดการเคมี และร่วมกันพัฒนา ต่อยอด ประสานการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตามหลักสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดเป็นสำคัญ”

บทสรุปการให้ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ



                     รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หลายคนมักจะมองว่า“สารเคมี” อันตราย แต่จริง ๆ แล้ว ทุกสิ่งในโลกนี้นั้นล้วนเกิดมาจากองค์ประกอบทางเคมีทั้งสิ้น ร่างกายของเราประกอบด้วยสารเคมีหลายร้อยหลายพันชนิด สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำ คือ การพัฒนาวิธีการที่จะทำให้เกิดองค์ประกอบทางเคมีใหม่ ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น โดยสารเคมีสามารถเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย ซึ่งสารเคมีจะอันตรายเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับของความเป็นพิษและปริมาณที่ได้รับเข้าไป มีสารเคมีหลายชนิดที่ถ้าเราได้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อย ก็เกิดอันตรายได้ เช่น ถ้าได้รับสารหนู เข้าไปเพียงแค่  52 มิลลิกรัม ก็ถึงตายได้ ขณะเดียวกัน ถ้าดื่มน้ำเปล่าเข้าไป 6 ลิตร ภายในเวลา 1 ชั่วโมง คนคนนั้นก็มีสิทธิที่จะตายได้เช่นกัน จากการได้รับน้ำมากเกินไป จะเห็นว่าทั้งสารหนูและน้ำเปล่าเป็นอันตรายได้ทั้งคู่ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ร่างกายได้รับเข้าไป ดังนั้น การใช้สารเคมีแต่ละชนิดจึงควรใช้เท่าที่จำเป็นและในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีได้อย่างปลอดภัย


 นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาซเคมโลจิสติกส์แมเนจเมนท์ จำกัด ประธานกลุ่ม Responsible care ® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย       ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ สร้างรายได้ทั่วโลกมากกว่า 3,347 พันล้าน  ยูโร ในปี พ..2018 การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรรมเคมีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2008 เทียบเคียงกับ 2018) พบว่าตลาดในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียมีการเจริญเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ                    ในประเทศไทยอุตสาหกรรมเคมี ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับประเทศ การพัฒนาด้านศาสตร์ทางเคมีก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านความเป็นอยู่          ของประชากรโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การคิดค้นยารักษาโรค การผลิตน้ำดื่มที่สะอาด พลังงานหมุนวน ผลผลิตทางการเกษตร ภาคก่อสร้าง และขนส่ง เป็นต้น แต่ภาพสะท้อนในแง่ลบต่ออุตสาหกรรมเคมีก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ หลัก Responsible Care® ดูแลด้วยความรับผิดชอบจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นความยืดมั่นถือมั่นของภาคอุตสาหกรรมในการยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัย                     อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวทางที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 1985 ในมากกว่า 68 ประเทศเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อการใช้และผลิตสารเคมีที่ลดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยนั้นกลุ่ม Responsible Care® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1996 ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสมาชิกและภาคอุตสาหกรรมเคมีให้นำแนวปฏิบัติด้านการจัดการ ทั้ง 6 ด้าน ไปใช้ในบริบทการบริหารจัดการองค์กร ประกอบด้วย        การตระหนักรู้ของภาคประชาสังคมและการระงับเหตุฉุกเฉิน ความปลอดภัยของกระบวนการผลิต การป้องกันมลพิษ สุขอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน การขนส่งและกระจายสินค้า และการดูแลผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ซึ่ง Responsible Care®  ถือได้ว่าเป็นปรัชญาในการบริการจัดการด้านความปลอดภัย                อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นหัวใจและกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญอันจะส่งเสริมการพัฒนา    อย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมเคมีในเวทีการค้าโลก ทั้งในภาพเศรษฐศาสตร์และความเป็นเลิศในด้านจัดการสารเคมีที่ดีที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และความเสี่ยงอีกด้วย


ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผู้เชี่ยวชาญ Green Chemistry ได้ให้ความเห็นเรื่อง Green Chemistry หรือ เคมีกรีนว่า เวลาพูดถึงกรีน ไม่ได้แปลว่า   เราจะไม่ใช้สารเคมี อยากให้เข้าใจว่า เคมีกรีนไม่ได้แปลว่าจะไม่ใช้สารเคมีเลย แต่คำว่ากรีนในที่นี้หมายถึงการทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เคมีที่ต้องการโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ทำ ผู้ใช้ และสิ่งเวดล้อม เราก็ยังคงต้องใช้สารเคมีแต่ทำการออกแบบให้ลดความเป็นอันตรายลง เพราะรอบตัวของมนุษย์หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้    คือสารเคมีทั้งสิ้น และสารเคมีทุกชนิดมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสมบัติของสารว่าเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าใช้อย่างไรตลอดจนการจัดการ หากผู้ใช้มีความเข้าใจสามารถทำได้ถูกต้องตามข้อควรระวัง รู้จักป้องกันตนเอง การใช้งานก็จะไม่เกิดอันตรายเพราะสารเคมีที่เป็นอันตราย แต่ถ้ารู้จักวิธีจัดการและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ก็จะใช้ประโยชน์ได้อย่างดียิ่ง ซึ่งหลักการของเคมีกรีนนี้จะต้องทำให้สมดุลกันใน 3 เรื่อง คือ ความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายและผลผลิตที่ได้ตามความต้องการ เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนและจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานสารตกค้างทางการเกษตร JMPR (FAO/WHO) และอดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในปี 1985 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  ได้ร่างจรรยาบรรณขึ้นมา เรียกว่า International Code of Conduct on the Distribution and Use of Pesticides เป็นจรรยาบรรณให้แก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ใช้สารเคมี รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องต่างๆ        ให้ปฏิบัติตามแต่ไม่ใช่กฎหมาย โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ต่อมาองค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้เข้ามาร่วม (UNEP) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น The International Code of Conduct on Pesticide Management และได้ขยายคำแนะนำให้ครอบคลุมถึงสารเคมีที่ใช้ทางสาธารณสุข และสารเคมีที่ใช้ในบ้านเรือน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าคำแนะนำเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์แก่การปฏิบัติตามทั้งสิ้น โดยเฉพาะแนวทางการขึ้นทะเบียนสารเคมี การยกเลิกใช้สารฯ เมื่อเข้าใจว่ามีอันตรายและผลกระทบ ต้องใช้หลักการ Risk Assessment ที่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ รวมทั้งต้องดู Risk Management ประกอบด้วยว่าความอันตรายที่มีพิษและเกิดขึ้น สามารถบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงได้ไหม เช่น สารที่มีความเข้มข้นสูงอาจจะเปลี่ยนลดปริมาณการใช้ เปลี่ยนสูตร เปลี่ยนวิธีการใช้ รวมทั้งปรับสภาวะต่าง ๆ ตามบริบทของแต่ละประเทศ ถ้าบริหารลดความเสี่ยงลงไม่ได้จึงจะพิจารณาระงับการใช้ หรือ cancellation สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีเกษตร อุตสาหกรรมและสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานโดยองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ที่ให้ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศได้ ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ ต้องศึกษาทำความเข้าใจกับข้อมูลต่าง ๆ และปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็จะได้ข้อมูลที่เหมาะสม ช่วยแก้และบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ลงได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำสารเคมีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“กรณีศึกษาที่เคมีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้าย” ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึง  “เคมี”  มักจะถูกสังคมมองถึงด้านลบเพียงด้านเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเป็นผู้ร้ายของสังคม และถูกมองว่าเป็นสิ่งอันตราย  เป็นภัยต่อผู้ใช้โดยส่วนรวม แต่เราทุกคนลืมไปหรือไม่ว่า “เคมี” ก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน มิได้ให้ผลต่อผู้ใช้เพียงด้านเดียว แต่ยังมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้ เพียงแต่เราต้องใช้อย่างถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น กรณีการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ     ไกลโฟเสต เป็นสารเคมีที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นอย่างมากในการกำจัดแมลงและวัชพืชที่รบกวนการเพาะปลูก ซึ่งผลกระทบต่าง ๆ ต่อสุขภาพ ที่มีการอ้างอิงถึง เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง         ขาดความรู้ในเรื่องใช้อย่างแท้จริง ในวันนี้เราจึงตั้ง “เครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัย เพื่อการใช้เคมี       อย่างยั่งยืน แห่งประเทศไทย” หรือ “Network of Safety Chemical Usage for Sustainable Development of Thailand”(NSCU) ขึ้น ซึ่งเกิดจากความมือระหว่าง  หน่วยงานภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคการเมือง เพื่อเป็นเครือข่ายที่จะลุกขึ้นมาให้ความรู้ ความเข้าใจ การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและยั่งยืนแก่สังคมไทย

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย  กล่าวถึงประเด็นของข่าวการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในน้ำดื่ม จ.น่าน เกินค่ามาตรฐานสากล ข่าว “โรคเนื้อเน่า” สาเหตุจากพาราควอต   ที่ จ.หนองบัวลำภู และการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มแม่และในขี้เทาทารก เป็นข่าวที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกว่า เกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากจนผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย             เกิดวาทกรรม “สารพิษอาบแผ่นดิน”

แต่จากการสืบค้นหาความจริง พบว่า น้ำดื่มเมืองน่านยังปลอดภัย แต่นักวิจัยอ้างค่ามาตรฐานผิดจากความจริง และเมื่อลงพื้นที่หาสาเหตุโรคเนื้อเน่า เดือนธันวาคม 2562 เก็บตัวอย่างตะกอนดินและน้ำไปวิเคราะห์ผล คือ ไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่พบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคเนื้อเน่า ส่วนงานวิจัยพาราควอต         ในขี้เทาทารก พบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการในวิธีการทดลองของนักวิจัย ดังนั้น สมาคมฯ จึงเสนอขอทบทวนมติการแบนพาราควอต

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต ไม่ใช่ขั้นตอนปกติของกรมวิชาการเกษตร นอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทน ที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอต ไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต

ยกตัวอย่าง ขั้นตอนการแบนสารในสหภาพยุโรป เช่น สารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต เริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีฯในเอเชียแปซิฟิค (PANAP) ตั้งแต่ปี 2551 ต่อมา EFSA ได้เริ่มขั้นตอนประเมินความเสี่ยงและพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อพบว่า กลูโฟซิเนต เป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ระบบสืบพันธุ์และการเจริญของทารกผิดปกติ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกการใช้ในปี 2561 ซึ่งกระบวนการใช้เวลานานถึง 13 ปี ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวที่จะหาวิธีการหรือสารทดแทน และ phase out สินค้าออกจากตลาด

เมื่อพาราควอตถูกแบนไปเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 กษ.ประกาศให้เวลาเกษตรกร 90 วัน เพื่อนำพาราควอต   มาส่งคืนเพื่อเผาทำลายภายใน 29 สิงหาคม 2563 แต่ อย. กลับผ่อนผันให้ภาคอุตสาหกรรมนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและมีค่าตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEX  ไปจนถึง 1 มิถุนายน 2564 ทำให้เกิดตำถามสำหรับผู้บริโภคว่า พาราควอตตกค้างนิดเดียวก็อันตราย แต่ทำไมยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนพาราควอตมาให้คนไทยบริโภค สรุปว่าตกค้างไม่เกินมาตรฐานไม่อันตราย แต่ทำไมไม่อนุญาตให้เกษตรกรใช้ไปจนถึงปีหน้า ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ และในระหว่างการผ่อนผัน ควรตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสองฝ่าย มาร่วมกันทบทวนหลักฐานที่ใช้ประกอบการแบนพาราควอตว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งและความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

สมาคมฯ เห็นว่า การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย จะเป็นทางออกที่ถูกต้องและยั่งยืนสำหรับภาคเกษตรไทย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย วนานุกูล  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นว่า ในมุมมองของนักพิษวิทยา มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นพิษได้ ในขณะเดียวกันทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นประโยชน์ สารเคมีสามารถเป็นยาได้ แต่สิ่งที่แยกกันระหว่างสารเคมีที่อันตรายกับสารเคมีที่จะเป็นยา คือปริมาณที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย สารเคมีไม่ได้เป็นผู้ร้ายหรือพระเอก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่นำไปใช้ที่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้านำไปใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง สารเคมีจะกลายเป็นยา เป็นประโยชน์ให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าใช้ในปริมาณหรือในทางที่ผิด สารเคมีก็จะกลายเป็นผู้ร้าย เป็นตัวอันตราย เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่เราเป็นคนบริหารจัดการ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา พบว่าภาวะเกิดพิษของสารกำจัดศัตรูพืช ประมาณ 64% นำไปทำร้ายตัวเอง 30% เกิดจากอุบัติเหตุ เช่นเก็บไม่ดี ถ่ายภาชนะบรรจุลงในขวดเครื่องดื่ม และมีเพียง 4% ที่เกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้อัตราสูง เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันตนเองไม่เหมาะสม ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องมีความรับผิดชอบในการใช้ยา ใช้สารเคมี รวมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้สารเองก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน และการที่จะหาสารมาตัวใหม่มาทดแทนสารตัวเก่าที่จะยกเลิก ผู้เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาความปลอดภัยของสารตัวที่จะนำมาทดแทนอย่างถ่องแท้ เพราะสารทุกอย่างในโลกเป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ ต้องดูให้ดีว่าจะเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าเกิดคิดว่าสารที่ต้องการให้เลิกใช้แล้วไม่สามารถหาสารที่ทดแทนที่เหมาะสมดีพอให้กับผู้ใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคก็อยากกลับไปใช้ของเดิม และผลที่จะตามมาคือ 1.กระบวนการที่เรียกว่าของปลอม ไปอยู่ใต้ดินแทนก็ทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น 2. ตัวสารเคมีตัวเก่า แต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ทำให้คนที่มีหน้าที่ควบคุมจับได้ยากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลกับคนไข้ที่ได้รับสารพวกนี้ ทางแพทย์วินิจฉัยได้ยาก เพราะไม่สามารถบอกได้ว่ารับสารตัวไหนหรือรู้แต่ไม่กล้าบอก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคนไข้ได้อีกเช่นกัน

ดังนั้น สารเคมี ล้วนเป็นเหรียญที่มี 2 ด้าน มีทั้งประโยชน์และโทษคู่กัน ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตอยู่คู่กับสารเคมีที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ อ่านฉลากก่อนใช้งาน รู้จักสัญลักษณ์สารเคมี และสวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เคมี ตลอดจนการใช้ตามคำแนะนำและปริมาณที่กำหนด เพื่อการใช้เคมีให้ปลอดภัย และปราศจากสารตกค้าง ตลอดจนสารปนเปื้อนในอาหาร แล้วสังคมจะอยู่คู่กับเคมีได้อย่างปลอดภัย และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พบโปรสุดพิเศษที่เค้กช็อพ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์

พบโปรสุดพิเศษที่เค้กช็อพ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์        เค้กช็อพ  โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ เชิญชวนคุณมาเติมความสดชื่นในทุกๆ เช้าวันใหม่ด้วยขนมอบร...