กรมการพัฒนาชุมชน
(พช.) ผนึกกำลังสถาบันอาหาร
หนุน “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์
OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” หวังปั้นแบรนด์ “OTOP Thai
Taste”
มุ่งสร้างรายได้คืนกลับชุมชน
เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก
นายสุทธิพงษ์
จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานในพิธีส่งมอบสินค้าต้นแบบ และแถลงผลการดำเนินงาน ภายใต้ “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์
OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” ณ
ห้องประชุม 3003 กรมการพัฒนาชุมชน โดยมีผู้แทนสถาบันอาหาร
และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน
และ สถาบันอาหาร ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาคุณภาพการผลิต
การแปรรูป การเก็บรักษา เมนูอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ จากโครงการยกระดับมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้
(OTOP Authentic Thai Taste) จัดทำสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์
สร้างสรรค์เมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้ที่มีความโดดเด่นของส่วนประกอบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น
10 เมนู
เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่อาหารถิ่นรสไทยแท้ที่เป็นอาหารปรุงสด
ให้เป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาเพื่อการบริโภคได้ยาวนานขึ้น
สะดวกต่อการรับประทานรองรับเทรนด์ในยุคปัจจุบัน
พร้อมขยายตลาดสู่เครือข่ายผู้ผลิตอาหารไทยและผู้บริโภค
นายสุทธิพงษ์
จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เปิดเผยว่า โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์
OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้
เป็นโครงการที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากการดำเนินการโครงการอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP
Authentic Thai Taste) ในปีงบประมาณ 2561
ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้กว่า 500
เมนู จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ
โดยอาหารถิ่นที่ได้รับการคัดสรรหลายเมนู มีเครื่องเทศ สมุนไพร
และพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ดีต่อสุขภาพ
ซึ่งเมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้ดังกล่าว เหมาะสำหรับการบริโภคทันทีเมื่อปรุงเสร็จ
มีช่วงเวลาเก็บรักษาที่สั้น ทำให้ไม่สามารถทำการตลาดในวงกว้างได้
ในปี2563
นี้ กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดทำ “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์
OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้"
โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอาหารไทยที่มีสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคมาพัฒนา
โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตมาใช้เพื่อการยืดอายุผลิตภัณฑ์
พัฒนาเป็นสินค้าอาหารแปรรูป ที่สะดวกต่อการบริโภค
สอดคล้องตามความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน รสชาติอร่อย แต่ยังคงคุณประโยชน์
คุณภาพ และความปลอดภัย เพิ่มการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่
และใช้ตราสัญลักษณ์หรือแบรนด์ OTOP
Thai Taste ระบุข้อมูลโภชนาการต่อหน่วยบริโภค
และจุดเด่นเรื่องราว (Story) ของผลิตภัณฑ์
ลงบนฉลากบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสินค้าระดับสากล
โดยนอกจากได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ในท้องตลาด
ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน เดิมจากอาหารที่ปรุงสด ในราคา 30
บาท สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ในราคาขาย
50 บาทหรืออาจสูงกว่า จากข้อมูลสำรวจปี 2562
(สำนักงานสถิติแห่งชาติ) มีครัวเรือนทั่วประเทศ 21
ล้านครัวเรือน หากแต่ละครัวเรือนซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้
1 ถ้วย/ปี จะได้ 21
ล้านถ้วย สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 1,050
ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าว จะกระจายกลับคืนสู่ชุมชนและอีกหลายชีวิต
ก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากได้ สร้างงาน สร้างรายได้
สร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน
“การส่งมอบสินค้าต้นแบบวันนี้
เพื่อดำเนินการทดสอบตลาดแบบครบวงจรและสร้างการรับรู้ไปสู่เครือข่ายการผลิตอาหารไทย
และผู้บริโภค เช่น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ทั้ง 76
จังหวัด ผู้ประกอบการอาหาร และ ผู้บริโภคทั่วไป จำนวน 10
ผลิตภัณฑ์ ไม่น้อยกว่า 2,600 ชิ้น/จังหวัด รวม 205,000
ชิ้น ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ประสานความร่วมมือดำเนินการกระจายสินค้าส่งไปยังทั่วประเทศ
และคาดว่าจะรับมอบสินค้าจากสถาบันอาหารครบตามจำนวนภายในเดือนสิงหาคมนี้ ”
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง
จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า “สภาสตรีแห่งชาติ
ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือและประสานงานดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มสตรีและสังคม
จากโครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้
เป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นโอกาสการจำหน่ายวัตถุดิบพืชผักทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกร การผลิตเครื่องปรุง
เครื่องเทศ การจ้างแรงงานในชุมชนเพื่อการเก็บเกี่ยว
การเตรียมวัตถุดิบเพื่อการส่งผลิต สามารถลดปัญหาการว่างงาน
เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนทั่วประเทศในสภาวการณ์ปัจจุบันได้”
ขณะที่นางนิตยา
พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า
สินค้าต้นแบบที่ส่งมอบนี้เป็นสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์ที่ผ่านการควบคุมกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล
เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
โดยใช้เทคโนโลยียืดอายุผลิตภัณฑ์
ซึ่งสถาบันอาหารรับดำเนินการผลิตเป็นสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ด้วย
2 เทคโนโลยี คือ 1) เทคโนโลยีการยืดอายุด้วยเครื่องฟรีซดราย
(Freeze Dryer) หรือเทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง จำนวน 5
ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำยา(น้ำเงี้ยว) แกงไตปลา แกงป่าไก่
แกงเห็ด และแกงกระวานไก่ และ 2)
เทคโนโลยีการยืดอายุอาหารโดยใช้เครื่องรีทอร์ท (Retort) หรือเครื่องฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน
จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แกงฮังเลไก่ มัสมั่นไก่
ต้มโคล้งปลาย่าง น้ำยาป่า และแกงส้มมะละกอ โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 เมนูนี้
สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 1 ปี
ทั้งนี้เมื่อนำสินค้าต้นแบบกระจายสู่ตลาดแล้ว จะมีการประเมินผลการทดสอบตลาดในแต่ละจังหวัดเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพ
รสชาติ และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการตลาดต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น