เที่ยวรถไฟญี่ปุ่น KIHA 183
เที่ยวสนุกสนานเมืองแปดริ้ว "ฉะเชิงเทรา"
รถไฟ "KIHA 183" เป็นรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit : DMU) จากเกาะฮอกไกโดที่เคยให้บริการอยู่กับ Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido ก่อนที่จะยุติการให้บริการในญี่ปุ่น ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีหัวรถจักรลากจูง หัวและท้ายขบวนเป็นรถประเภทที่มีห้องขับ ขบวนรถไฟแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้านหน้าสุดเป็นห้องขับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ารถไฟทั่วไปและเป็นเอกลักษณ์ของรถดีเซลรางของญี่ปุ่น จนทำให้หน้าตาดูเหมือนหุ่นยนต์ ถัดจากห้องขับจะเป็นส่วนของห้องเครื่อง และห้องโดยสารแอร์เย็นฉ่ำ มีที่นั่งเบาะกำมะหยี่แบบปรับเอนได้จำนวน 40 ที่นั่ง ตามด้วยรถ KIHA 182ไม่มีห้องขับเป็นห้องโดยสารยาวตลอดแนว ที่นั่งเป็นเบาะกำมะหยี่สีแดงเลือดหมูปรับเอนได้จำนวน 68 ที่นั่ง มีห้องน้ำระบบปิด จัดขบวนรถแบบ 4 ตู้ จะได้ที่นั่ง 216 ที่/ขบวน สามารถใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถได้ที่ 100 กม./ชม. เท่ากับดีเซลราง THN ของประเทศไทย
ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับบริจาครถไฟ KIHA 183 และ KIHA 182 จากบริษัท JR Hokkaido จำนวน 17 คัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพและดัดแปลงรถไฟ KIHA พร้อมเสริมแต่งสภาพระบบเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ระบบห้องสุขาที่เป็นแบบระบบปิดมีถังเก็บ รวมถึงการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่นั่งภายในพร้อมผ้าม่าน และที่สำคัญคือความสวยงามภายในห้องโดยสาร นั่งแล้วรู้สึกสบาย เบาะนั่งเอนได้ในระดับเหมาะสม สีสันของตัวรถทางการรถไฟฯ เลือกใช้เฉดสีเดิมทั้งหมด เพื่อคงความเป็นต้นฉบับและรักษาเอกลักษณ์ของ KIHA 183 มีส่วนเดียวที่เพิ่มเข้ามา คือสัญลักษณ์ SRT ที่อยู่ด้านข้างรถใกล้กับเลขประจำตู้ เพื่อนำมาใช้สำหรับให้บริการในรูปแบบของขบวนรถนำเที่ยววันนี้ ฯพณฯ เปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย พร้อมภรรยา ให้เกียรติร่วมเดินทางท่องเที่ยว รถไฟ KIHA 183 ขบวนพิเศษนำเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แบบส่วนตัว อย่างไม่เป็นทางการ เดินทางท่องเที่ยวพร้อมนักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 200 คน สู่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยท่านได้ร่วมทำกิจกรรม ทำทุกอย่างเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ร่วมเดินทางกับนักท่องเที่ยวด้วยอัธยาศัยไมตรี พูดคุยอย่างเป็นกันเองโดยไม่ถือตัว
การเดินทางท่องเที่ยวสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างนั่งรถไฟ KIHA 183 มัคคุเทศก์ก็จะบรรยายถึงการเดินทางของขบวนรถไฟ KIHA 183 และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวฟัง ใช้เวลาเดินทางไม่นานนักก็ถึงจุดชมวิวบริเวณกลางสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ แลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา รถไฟ KIHA 183 ก็จอดให้นักท่องเที่ยวลงไปกลางสะพาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สนุกสนานและตื่นเต้นกับการถ่ายภาพกับรถไฟ KIHA 183 กลางสะพาน ชมทัศนียภาพแม่น้ำบางปะกง ท่ามกลางสายลมและแสงแดด หลังเก็บภาพความประทับใจเรียบร้อย ขบวนรถก็ออกเดินทางต่อถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา จุดหมายปลายทาง
เลือกชิม ช้อป ซื้อของฝากและของที่ระลึกจนพอใจ ก็เดินทางต่อไปยัง "วัดหัวสวน" ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า เมื่อไปถึงนักท่องเที่ยวร่วมถวายสังฆทาน พร้อมขอพรจาก "หลวงพ่อพระครูภาวนาจริยคุณ" (ประยงค์) เจ้าอาวาสวัดหัวสวน และเจ้าคณะอำเภอบางคล้า ในการนี้ท่านได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมมอบวัตถุมงคล "แบงค์มหาลาภ" เพื่อความเป็นสิริมงคล วัดหัวสวนแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยมี "หลวงพ่อเหลือ" วัดสาวชะโงก (พระครูนันทธีราจารย์) เป็นผู้เริ่มสร้างโบสถ์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2471 ต่อมาในช่วงที่จะต้องบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ พระครูภาวนาจริยกุล เจ้าอาวาส เห็นว่าโบสถ์เก่ามีความทรุดโทรมมาก จึงมีแนวคิดสร้างอุโบสถหลังใหม่ให้มีอายุยืนยาวกว่าการสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเดิมๆ โดยดำเนินการสร้างโบสถ์ทั้งหลังด้วยสแตนเลส ซึ่งท่านเป็นผู้ออกแบบและควบคุมดูแลการก่อสร้างเอง เริ่มสร้างเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 และเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่เที่ยว Unseen แห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งความงดงามของโบสถ์สแตนเลสนี้เมื่อต้องแสงอาทิตย์จะมีแสงสะท้อนสีเงินแวววาวเปล่งประกายสวยงามยิ่งนัก ภายในประดิษฐาน "พระพุทธมหาลาภ" พระประธานปางทรงเครื่องกษัตริย์ที่ประดับด้วยหินสีอัญมณีส่องเป็นประกายและยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสวยงาม ที่มีวิธีการสร้างภาพมาจากการพ่นแอร์บรัช ที่มีความแปลกตาอย่างมาก
ผ่าน "อุทยานพระพิฆเนศ" อำเภอคลองเขื่อน ที่มีองค์พระพิฆเนศเนื้อโลหะบรอนซ์นอก (สำริด) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง นามว่า “พระพิฆเนศปางยืน องค์สำริด สำเร็จ สมปรารถนา" ที่ประกอบจากชิ้นส่วน 854 ชิ้น มีความสูงรวมแท่นฐาน 39 เมตร พระหัตถ์ทั้ง 4 นั้นถือดอกบัว, มะม่วง, กล้วย, อ้อย, ขนุน และที่พระบาทมีหนูกอดลูกมะพร้าว ซึ่งมีความหมายคือ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน
และยังผ่าน "วัดพุทธพรหมยาน" อำเภอคลองเขื่อน เป็นวัดที่ "พระปลัดเอกลักษณ์ ปัญญาคโม" เจ้าอาวาสวัดพุทธพรหมยาน มีจิตศรัทธาอันแรงกล้า และเชื่อมั่นในปฏิปทาพระราชพรหมยาน หรือ “หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ” ท่านได้เดินทางมา ณ บริเวณที่เป็นที่ตั้งวัดแห่งนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และท่านได้อธิษฐานจิตว่า หากมีวาสนาบารมีจะพัฒนาพื้นที่ดินแห่งนี้เป็นวัดให้สวยงาม ทุกอย่างถูกออกแบบด้วยโทนสีขาวมุกสะอาดตาแฝงไปด้วยธรรมะ นักท่องเที่ยวต้องประทับใจกับความสวยงามของวิหารแก้วอันวิจิตร ที่ประดับประดาด้วยกระจกแก้วเปล่งประกายระยิบระยับ, อุโบสถเรือทิพย์วิมานสีขาวมุก 2 ชั้น บนเรือเป็นที่ประดิษฐาน "พระวิสุทธิเทพ สมเด็จองค์ปฐม ปางพระนิพพาน" และ "พญายมราช" ที่นี่ยังมีศาลา 1 ไร่ เพื่อใช้ประกอบศาสนพิธี มีพระพุทธรูปนาคปรกและพระชำระหนี้สงฆ์ ที่นี่ย้งเป็นเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอีกด้วย
แล้วก็ถึงเวลาเดินทางไปที่สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา เพื่อขึ้นรถไฟ KIHA 183 เดินทางกลับสู่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ ด้วยความสุขโดยสวัสดิภาพ
***ขอขอบคุณ ตำรวจภูธรภาค 2 และตำรวจ สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ที่อำนวยความสะดวกด้านจราจรในระหว่งการเดินทางในจังหวัดฉะเชิงเทราในครั้งนี้
#การรถไฟแห่งประเทศไทย
#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
#สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย
#บริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น