เที่ยวสานฝัน...ปันสุข...สุดสนุก จังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช
ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA)
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดโครงการ “เที่ยวสานฝัน...ปันสุข...สุดสนุก จังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช” นำนักท่องเที่ยว 120 คน เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) โดยมี พล.ต.ต.กฤษฎา แก้วจันดี ผบก.ภ.จว.พัทลุง. พล.ต.ต. สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ ผบก. ภ.จว.นครศรีธรรมราช และ พ.ต.อ.ชัชพิสิฐ นคราวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.พัทลุง นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ มาอำนวยความสะดวกในด้านการจราจรระหว่างเดินทาง
คณะของเรานัดพบกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเวลาบ่าย โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิและฉีดแอลกอฮอล์ให้แก่นักท่องเที่ยวทุกท่านตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) และชี้แจงการท่องเที่ยวรูปแบบ New Normal เมื่อมาพร้อมกันแล้ว คุณยุพา ปานรอด ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม ททท. ตัวแทนนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานเปิดโครงการและกล่าวทักทายนักท่องเที่ยว
จนถึงเวลา 14.45 น. พวกเราก็ขึ้นรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ เป็นขบวนรถด่วนพิเศษของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้บริการผู้โดยสารระหว่างสถานีรถไฟกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร กับสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่จังหวัดสงขลา เป็นขบวนรถด่วนพิเศษสายใต้ โดยขบวนรถนี้ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วก็ได้เวลารถไฟออก เสียงหวูดรถไฟดัง ปรู๊น....ปรู๊น...ปรู๊น ล้อเหล็กเลื่อนบดรางกระฉึกกระฉัก มุ่งหน้าสู่จังหวัดพัทลุง
เมื่อไปถึงจังหวัดพัทลุงเวลาเช้าตรู่ รถตู้ของศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนเพื่อการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมก็มารอพวกเราอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นพนักงานขับรถก็นำสเปรย์แอลกอฮอล์มาฉีดฆ่าเชื้อโรคที่กระเป๋าสัมภาระ และมาฉีดที่มือของนักท่องเที่ยวก่อนขึ้นรถ เมื่อพร้อมกันแล้ว พวกเราก็เดินทางไปรับประทานอาหารเช้ากันที่ร้านต้อม บักกุ๊ดเต๋ ลิ้มรสบักกุ๊ดเต๋ที่แสนอร่อย อาหารที่ขึ้นชื่อลือชาของที่นี่ หลังอิ่มหนำสำราญง พ.ต.อ.ชัชพิสิฐ นคราวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.พัทลุง ก็กล่าวต้อนรับ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร่วมเดินทางกับคณะตลอดทั้งทริป
จากนั้นเดินทางไป “หาดแสนสุขลำปำ” อ.เมือง สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลสาบสงขลาที่มีชื่อเสียง เมื่อไปถึง นายสานิตย์ เพชรกาศ รองนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ให้เกียรติมาต้อนรับ คณะนักท่องเที่ยว พร้อมแนะนำพื้นที่เกี่ยวกับสถานที่ หาดแสนสุขลำปำแห่งนี้ เป็นหาดทรายที่มีทิวสนร่มรื่น เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีศาลากลางน้ำชื่อ “ศาลาลำปำที่รัก” สำหรับชมทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบ และจากบริเวณชายหาด มีสะพานเชื่อมไปยังเกาะลอย เมื่อเดินเข้าไปภายในเราจะเห็น หอโพนศรีไพศาล เป็นโพนมงคลหนึ่งในโพนมงคล 9 ลูกที่ทางเทศบาลเมืองพัทลุงได้จัดกิจกรรม “ตีโพน 9 หอ” สร้างเอกลักษณ์เมืองแห่งโพน และจัดแสดงรูปปั้นโนราและภาพหนังตะลุง ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง รวมทั้งรูปปั้นโลมาอิรวดี (โลมาหัวหมอน) สัตว์หายากและเป็นสัตว์คุ้มครอง พบเพียง 5 แห่งในโลก รวมถึงทะเลสาบสงขลาของไทย และทะเลสาบลำปำด้วย ที่นี่ไม่เพียงแต่จะมีธรรมชาติที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จมาประทับแรมอีกด้วย ปัจจุบันทางจังหวัดพัทลุงได้พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ จนกลายเป็นที่นิยมของนักทัศนาจรต่างถิ่น รวมไปถึงพี่น้องชาวเมืองพัทลุง
ต่อด้วย “ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณี” อ.ควนขนุน ชมวิธีการผลิตกระเป๋า ตะกร้า เครื่องใช้ต่างๆ เช่น หมวก กระเป๋าถือรูปแบบต่างๆ จนเป็นสินค้าชุมชนจากกระจูด (กระจูดเป็นพืชตระกูลกก ที่มีคุณสมบัติสมบัติเหนียวนุ่มเมื่อนำมาตากแห้ง พับแล้วคืนตัวไม่ยู้ยี่ ไม่อมฝุ่น จึงนำมาจักสาน) นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด เจ้าของแบรนด์ หัตถกรรมกระจูดวรรณี บรยายให้ฟังว่า ศูนย์เรียนรู้นี้เกิดจากคุณวรรณี เซ่งฮวด เป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันมีตนเอง ซึ่งเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ ผู้สืบสานภูมิปัญญาจากคุณแม่ผู้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศปี 2556 ได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องลวดลายการสานให้ดูทันสมัยขึ้น เพื่อยกระดับงานพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ยังคงรูปแบบการใช้งานแบบเดิมเอาไว้ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานสาน สามารถชมและซื้อได้ในราคาไม่แพงได้ที่นี่
ก็เดินทางไป “สวนเดอลอง” อ.เมือง จุดเช็คอินใหม่ล่าสุดของจังหวัด ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะที่นี่เป็นสวนที่รวบรวมที่กิน ที่เที่ยว ของฝาก และมุมถ่ายภาพสวยๆ แถมมีที่จิบกาแฟ ด้วยสโลแกนที่ว่า “จิบกาแฟแลเครื่องบิน เช็คอินนาขั้นบันได คล้องใจสะพานรัก รู้จักเกษตรแปรรูป” เริ่มกันตั้งแต่ที่ลงจากรถ ก็จะเจอกับป้ายสวนเดอลองที่ตั้งอยู่หน้าริมสระน้ำ ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก และเมื่อเดินเข้าไปในตัวอาคาร ก็จะเจอกับจุดเช็คอินอีกหลายจุดที่ตั้งไว้บริการนักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปกันอย่างจุใจ และสิ่งที่โดดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวก็น่าจะเป็นสระน้ำที่สร้างไว้กลางสวน น้ำสีฟ้าครามดูแล้วสบายตา แถมมีสะพาน“สะพานรัก ข้าวสังข์หยด” ทอดข้ามสองฟากฝั่ง โดยตรงกลางสะพานจะมีตะแกรงเหล็กไว้ให้คู่รักได้นำกุญแจมาล็อกไว้ พร้อมกับสลักชื่อไว้บนกุญแจ เชื่อว่าจะเป็นรักแท้ของกันและกัน ใครไปกับแฟนก็อย่าลืมชวนกันไปคล้องรักคล้องใจไว้ที่นี่กัน ถัดมาอีกที่หนึ่งจะเป็นนาจำลองแบบขั้นบันได และเมื่อขึ้นไปข้างบนก็จะมีเครื่องบิน สามารถเข้าไปนั่งบนเครื่องบินแอ็คชั่นถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก เดินกันเหนื่อยแล้วก็แวะจิบกาแฟที่ “เดอลองคาเฟ่” กาแฟของที่นี่มีจุดเด่นที่แปลกกว่าที่อื่นคือเป็นกาแฟที่บดผสมผสานกับข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองที่โด่งดังของจังหวัด ใครได้ชิมแล้วละก็รับรองว่าจะติดใจ และยังมีเมนูอื่นๆ ให้เลือกอีกมากมาย ก่อนกลับก็อย่าลืมซื้อของฝากติดกลับบ้านด้วย เพราะที่นี่จะมีของฝากขนมพื้นเมือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะกาแฟเดอลองสังข์หยด
จิบกาแฟสบายอุราแล้ว ก็เดินทางไปห่มผ้าขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว” (วัดเขียนบางแก้ว) อ.เขาชัยสน ตามประวัติว่า วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้ โดยได้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่า เพลาวัด กล่าวไว้ว่าวัดนี้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1492 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1493 เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ หรือจากหลักฐานทางเอกสารบางอย่าง แสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ และพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ เป็นอารยธรรมอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ หรือตามตำนานของพระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่า พระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุง เป็นผู้สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1482 (จ.ศ. 301) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 1486 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว” เมื่อ พ.ศ. 2561 เมื่อไปถึง พระสมุห์สดใส อินทรวังโส เจ้าอาวาสวัดเขียนบางแก้ว กล่าวต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเป็นประธานรับถวายผ้าห่มพระธาตุ มอบวัตถุมงคล และนำคณะนักท่องเที่ยวร่วมห่มผ้าองค์พระธตุเจดีย์เขียนบางแก้ว และต้องขอขอบคุณ พ.ต.อ.พงศ์พสิษฐ์ ทองด้วง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยการจราจรในพื้นที่เขตรับผิดชอบทุกเส้นทาง
ห่มผ้าองค์พระธาตุกันแล้ว ก็ได้เวลาอาหารเย็น มื้อนี้พวกเราแวะรับประทานอาหารกันที่ ลานนา เรสเตอรองท์ รับประทานอาหารดื่มด่ำกับททัศนียภาพท้องทุ่งนาเขียวขจีสุดลูกหูลูกตามีเขาทะลุอาบแสงสีครามเป็นฉากหลังที่สวยงามดั่งต้องมนต์
จากนั้นพานั่งรถชม และถ่ายภาพเซลฟี่กันบนสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นสะพานข้ามทะเลสาบความยาวเกือบ 6 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ อ.ระโนด จ.สงขลา ถือเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย บนสะพานมีจุดชมวิวทะเลสาบ ซึ่งสามารถเห็นวิถีชีวิตควายน้ำ และนกนานาพันธุ์ จากความสวยงามและความสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งนี้ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ รวมทั้งพวกเราเดินทางมาชมความสวยงาม ได้ชมแสงแรกของวันสัมผัสสายลมเย็นๆ ชมยอยักษ์ ชมดอกบัว และควายน้ำ
จากนั้นคณะนักท่องเที่ยวของเราก็อำลาจังหวัดพัทลุง เดินทางไปที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมห่มผ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ โดยมีพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนำคณะนักท่องเที่ยวเดินแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดนี้ชาวบ้านเรียก “วัดพระธาตุ” เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในมี พระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์แบบทรงระฆังคว่ำ ที่ยอดเจดีย์หุ้มด้วยทองคำแท้ จากความเชื่อเล่าสืบตอบกันมาว่า องค์พระธาตุประกอบด้วยทองรูปพรรณและของมีค่ามากมายจรดปลายเจดีย์ ซึ่งสิ่งของมีค่าเหล่านี้พุทธศานิกชนนำมาถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ตนได้พบกับนิพพาน จากคำขวัญประจำจังหวัด “เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชื่นฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู” ข้อความว่า พระธาตุทองคำ จึงหมายถึง ยอดเจดีย์ทองของพระบรมธาตุนั่นเอง
อนุรักษ์ มงคลชัยประทีป/พรพรรณ ท้าวกาหลง เรื่องและภาพ
พีรดา วงษ์ไกร/สุจิตตรา ทมถา กองบรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น