“กระทรวงทรัพย์”ปลื้ม ผลงานป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่าปี 2565
จับบุกรุกป่าแบบไม่ไว้หน้าถึง 1,043 คดี แถม Hot Spot ต่ำสุดในรอบเฉลี่ย 3 ปี
พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
“ดร. ยุทธพล อังกินันทน์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปลื้มผลงานกรมป่าไม้ ป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่าได้สุดยอด ปี 2565 จับบุกรุกป่าแบบไม่ไว้หน้าถึง 1,043 คดี ดำเนินคดีแล้ว 707 คดี พร้อมสกัด Hot Spot เห็นผล ปี 2565 เกิดเพียง 53,800 จุด ต่ำสุดในรอบเฉลี่ย 3 ปี แถมป้องกันพื้นที่ป่าไม่ให้ถูกบุกรุกกว่า 2 หมื่นไร่ จัดหนักปลุกขวัญ 5,000 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ แจกทุนการศึกษาบุตร 306 ทุน รวม 1 ล้านบาท
กรมป่าไม้ ได้จัดให้มีการแถลงผลการดำเนินงานด้านการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และพิธีมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่า โดยมี ดร. ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และผู้บริหาร ทส. ร่วมในพิธี และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565
ดร. ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ในการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ เกิดขึ้น โดยได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
และนายวราวุธ ศิลปอาชา รวม.ทส. ได้มอบหมายให้กำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการร่วม พญาเสือ พยัคฆ์ไพร เหยี่ยวดง ฉลามขาว และหน่วยบินพิทักษ์ป่า (Sky Ranger) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวผนึกกำลังในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ในพื้นที่ป่าจนถึงท้องทะเล
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมป่าไม้ได้บูรณาการกับทุกภาคส่วน ป้องกัน และปราบปราม โดยเฉพาะการเร่งดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลที่บุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทำไม้ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และการสกัดกั้นกลุ่มขบวนการลักลอบค้าไม้ข้ามชาติ รวมถึงแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ภายใต้มาตรการ “ชิงเก็บก่อน” เพื่อลดการเผา และนำเชื้อเพลิงไปสร้างรายได้ พร้อมปรับยุทธวิธีดูแลป้องกันรักษาป่าโดยนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยตรวจสอบพื้นที่ป่า ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ความเข้าใจ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชน ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด
จากรายงานของกรมป่าไม้ ถึงผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 25 ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงพฤษภาคม 2565 สามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ มากกว่า 1,000 ราย โดยมีสถิติคดีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ในคดีพื้นที่บุกรุกป่า ปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสิ้น 1,043 คดี แบ่งเป็น ผู้กระทำผิดรายย่อย 1,002 คดี ผู้กระทำผิดรายใหญ่ 41 คดี ในการนี้ กรมป่าไม้ ได้มีการดำเนินคดีแล้ว 707 คดี แบ่งเป็น ผู้กระทำผิดรายย่อย 685 คดี ผู้กระทำผิดรายใหญ่ 22 คดี พร้อมกันนี้ยังสามารถป้องกันพื้นที่ป่าไม่ให้ถูกบุกรุกมากกว่า 20,000 ไร่
นอกจากนี้ในส่วนสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จากข้อมูล เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีจุดความร้อน หรือ Hot Spot สะสมทั่วประเทศ 53,800 จุด ซึ่งเป็นปริมาณที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีถึง 114,412 จุด ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสะสมทั่วประเทศ 3 ปี ปี 2565 มีจุด Hot Spot ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 133,502 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 71.28 ถือว่า ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จุด Hot Spot ลดลงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีตัวเลขลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่การดับไฟป่าทั่วประเทศ มีถึง 1,472 ครั้ง แบ่งเป็น ภาคเหนือตอนบน 1,110 ครั้ง ภาคเหนือตอนล่าง 76 ครั้ง ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ 246 ครั้ง และภาคกลาง 40 ครั้ง รวมพื้นที่ 18,675 ไร่ ขณะที่การจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2565 กรมป่าไม้ได้กำหนดการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ภาคเหนือรวม 1,500 ตัน ซึ่งผลการเก็บขนเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 สามารถเก็บขนได้ถึง 1,508.84 ตัน
ด้าน นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมป่าไม้มีพื้นที่ป่าไม้ในความรับผิดชอบทั่วประเทศมากกว่า 65 ล้านไร่ มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่ากว่า 5,000 คน ที่ต้องปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร บางครั้งได้รับภัยอันตราย จากกลุ่มบุคคลผู้หวังประโยชน์ จนถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือทุพพลภาพ หรือถึงแก่ชีวิต ทำให้ครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังต้องได้รับความยากลำบากในการดำรงชีพ รวมทั้งมีความห่วงใยถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรด้วย
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการศึกษาของบุตรเจ้าหน้าที่ จึงมอบนโยบายให้กรมป่าไม้สร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งครอบครัว พร้อมกันนี้ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ทั่วประเทศ จึงได้มีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรให้แก่กรมป่าไม้ ในปีงบประมาณ 2565 ได้มีการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่บุตรของเจ้าหน้าที่ ทั้งสิ้นจำนวน 306 ทุน ประกอบด้วย ระดับอุดมศึกษา 41 ทุน ทุนละ 5,000 บาท ระดับมัธยมศึกษา และระดับปฐมศึกษา 265 ทุน ทุนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท”
และนายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภาคเอกชนหน่วยหนึ่งของสังคม ที่มุ่งดำเนินกิจการควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน ทั้ง 3 มิติ คือ การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การสร้างสังคมชุมชนที่ยั่งยืน และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้มีโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าลุ่มน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี ร่วมกับกรมป่าไม้ ในการปลูกต้นไม้ ปกป้อง ฟื้นฟูและรักษาต้นไม้ นอกจากนี้ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้เห็นถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ปกป้อง รักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติหลายพื้นที่ มีความยากลำบาก ห่างไกล และต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยในหลากหลายรูปแบบ จึงอยากที่จะมาสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และครอบครัว โดยการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรของผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า พร้อมทั้งกล่าวชื่นชม ยกย่อง ทุกท่านที่ถือเป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” ในด้านการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ให้กับประเทศไทย ให้กับสังคมของเรา และให้กับลูกหลานของเรา สืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น