Reboot Your Balance เคลื่อนไหวอย่างสมดุล มั่นใจ ไร้กังวล ฟื้นตัวไวั ด้วยมาตรฐานการส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตด ERAS (Enhanced Recovery After Surgery)
สิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้ผู้ป่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง คือ ความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด และระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัว การรักษารูปแบบ ERAS (Enhanced Recovery After Surgery) คือ แนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนถึงหลังผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าตัดขนาดเล็ก การผ่าตัดด้วยเทคนิคและอุปกรณ์เสริมพิเศษที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อที่แผ่นหลังน้อย โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์สหสาขา(Multidisciplinary Approach) เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไว สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้โดยเร็ว
นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมด้วยศัลยแพทย์กระดูกสันหลังร่ได้แก่ นพ. ชัยเดช สระสมบูรณ์ นพ.คณิต จำรูญธเนศกุล และน.อ. นพ.ทายาท บูรณกาล ร่วมแถลงข่าว Reboot Your Balance with ERAS เคลื่อนไหวอย่างสมดุลมั่นใจ ฟื้นตัวไว ไร้กังวล ด้วย ERAS โดยมี ทพญ. ปิยะมล อัลบูสทานี ผู้ป่วยมาร่วมพูดคุยถึงความสำเร็จของการรักษากระดูกสันหลังด้วยการรักษาแบบ ERAS ที่ ชั้น1 โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563
นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ได้เลือกสรรวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งการรักษาในรูปแบบการส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ERAS (Enhanced Recovery After Surgery) นั้น ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว ลดอาการแทรกซ้อนได้ดี ให้สมกับความมุ่งมั่นที่ว่า “Customized the Best Treatment of Individual Patient”
พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยได้ให้การรักษาผู้ป่วยแล้วกว่า 300 ราย ซึ่งได้ผลลัพธ์ในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมความชำนาญทางการแพทย์สำหรับให้บริการการรักษาอาการปวดคอและหลังด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ คือ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ด้านระงับปวดและพยาบาลที่มีความชำนาญและได้รับการอบรมเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ครอบคลุมการรักษาอาการปวดคอและหลัง ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อค้นหาตำแหน่งในการปวด แล้ววางแผนการรักษาโดยเลือกเทคนิคการผ่าตัดและการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานตามหลักสากล ลดการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น
นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง กล่าวว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันองค์ความรู้และวิวัฒนาการด้านการแพทย์มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมาก ทำให้การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีกว่าในสมัยก่อน โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ศูนย์กระดูกสันหลัง รพ. กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เราใช้มาตรฐานการผ่าตัดรักษาที่เป็นมาตรฐานสากลและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยมากขึ้น ใช้เทคนิคการผ่าตัดเพื่อให้เกิดแผลผ่าตัดที่บาดเจ็บน้อยลง นอนโรงพยาบาลสั้นลง มีอัตราการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นและกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น เรียกมาตรฐานที่ส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดนี้ว่า ERAS หรือ Enhanced Recovery After Surgery Protocols อาศัยการทำงานร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์สหสาขา (Multidisciplinary Approach) ดังนี้
1.ทีมแพทย์ผ่าตัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดให้เร็วที่สุด
แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดแบบ “MISS หรือ Minimally Invasive Spine Surgery” ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กและทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคและอุปกรณ์เสริมพิเศษที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อที่แผ่นหลังน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วกว่าวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมและสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น
2.ทีมวิสัญญีแพทย์ ด้วยเทคนิคการดมยาสลบและการให้ยาแก้ปวดตามโปรแกรมส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS Protocols) จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบและยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนน้อยลง 3.ทีมแพทย์กายภาพบำบัด โดยจำเป็นต้องเข้าร่วมประเมินและพูดคุยกับผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงก่อนการผ่าตัด เพื่อแนะนำและสอนวิธีการเตรียมร่างกายก่อนผ่าตัด และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยทำกายภาพเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในระยะหลังการผ่าตัด 4.ทีมอายุรแพทย์ มีบทบาทสำคัญทั้งช่วงการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดและหลังผ่าตัด โดยการตรวจวินิจฉัยและให้ยาควบคุมในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคลิ่มเลือดอุดตัน เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปด้วยความปลอดภัย 5.ทีมพยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นและมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด เพราะการผ่าตัดตามมาตรฐานส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS) จำเป็นต้องมีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงต้องมีความเคร่งครัดในเรื่องการเลือกใช้ยาและการควบคุมโภชนาการของผู้ป่วยทั้งในช่วงก่อนและหลังการผ่าตัดอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพื่อการฟื้นตัวและผลลัพธ์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ดีนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่จากทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขา ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดการฝึกอบรมบุคลากรและการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพื่อทำให้แนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนถึงการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ตาม ERAS Protocols เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด
การผ่าตัดด้วยวิธี MIS (Minimally Invasive Surgery) แตกต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดกว้าง (Open Laminectomy) ที่เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ที่จะเปิดแผลผ่าตัดตรงกลางและทำการเลาะกล้ามเนื้อบริเวณรอบกระดูกสันหลัง และเข้าไปตัดกระดูกสันหลังส่วนลามินา เป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่กดทับออก เพื่อทำการเปิดโพรงเส้นประสาทให้โล่ง ข้อดีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมคือ สามารถขยายโพรงเส้นประสาทได้กว้าง แต่ข้อเสียคือ การผ่าตัดแบบเปิดกว้างทำให้มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ เสียเลือดมาก และมีโอกาสทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเสียความมั่นคงได้มาก การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กด้วยวิธี MIS โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Decompression) เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทที่มีข้อดีคือ คนไข้เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว และสามารถกลับบ้านได้เร็วเมื่อเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
นพ.ทายาท บูรณกาล ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง กล่าวว่า เทคนิคการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยจำแนกเป็น 2 วิธีหลักได้แก่
1.การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธีการโรยกระดูกเข้าจากด้านหลัง (Posterolateral Fusion) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบปกติเดิม การผ่าตัดชนิดนี้ต้องเปิดแผลกว้าง อัตราการเชื่อมไม่แน่นอนและติดไม่แข็งแรง
2.การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Interbody Fusion เป็นเทคนิคการผ่าตัด โดยนำหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมของผู้ป่วยออกเพื่อแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกเทียมและวัสดุกระตุ้นการเชื่อมกระดูก ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียเลือดน้อยกว่า การฟื้นตัวเร็วกว่าและมีอัตราความสำเร็จในการเชื่อมข้อกระดูกสูงกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยเทคนิคการผ่าตัด Interbody Fusion ยังแบ่งออกเป็นอีกหลายเทคนิค แต่หนึ่งในเทคนิคกำลังเป็นที่นิยมกันมาก คือ การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังแบบเข้าข้างลำตัว ด้วยวิธี ”โอลิฟ OLIF” (Oblique Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกสันหลังเทียม (Interbody Cage) จากทางด้านข้างลำตัว โดยทำการใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดทางด้านหน้าต่อกล้ามเนื้อโซแอส (Psoas Muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เชื่อมกระดูกสันหลังเข้ากับส่วนล่างของร่างกาย เป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถหยิบเศษหมอนรองกระดูกเดิมที่เสื่อมสภาพออกได้มากและสามารถใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงได้ รวมทั้งยังสามารถทำได้หลายระดับ โดยบาดเจ็บน้อย ช่วยแก้ไขแนวกระดูกที่บิดเบี้ยวได้ดี และมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะปลอดภัยมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์กระดูกสันหลังรพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดหลัง ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก JCI (Joint Commission International) จากสหรัฐอเมริกา เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมแพทย์สหสาขา พร้อมเป็นศูนย์กลางข้อมูล และให้คำปรึกษา วางแผนแนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังและคอที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นสำคัญ Reboot Your Balance เพราะเราอยากให้คุณเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุล สามารถสอบถามรายละเอียดหรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-755-1549-50 หรือ Contact Center 1719
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น