บพท. จับมือ มหาวิทยาลัย ชู ซอฟต์ พาวเวอร์ ผ่านมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง
พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรม
หวังหยั่งรากสำนึกท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ กล่าวรายงาน พร้อมการเสวนาในหัวข้อ: “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับพันธกิจที่ 4 : การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่” โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเสวนา หัวข้อ: ฟื้นใจเมืองด้วยภาคีเครือข่ายทุนทางวัฒนธรรม โดย คุณวาโย ด่านไทยวัฒนา นายกเทศมนตรีตำบลแม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย, คุณอภิวรรต์ สิกะคาร ผู้ประกอบการท่องเที่ยว พ่อครัวประจำมัสยิดซาฮีปากีสถาน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, คุณสุนิดดา จงวิบูลย์ ประธานกลุ่มฝ้ายฮักคราม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี และคุณยุ สีทอง นักกิจกรรมเยาวชนและ YouTuber ชาวกะเหรี่ยงโผล่ว อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวมทั้งเปิดตัวระบบฐานข้อมูลแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย : จาก Cultural Mapping สู่ Cultural Atlas และ Cultural Metaverse Thailand โดย ดร.วรงค์ นัยวินิจ, ผศ.ดร.สุทัศน์ กำมณี, อาจารย์ ชนกฤต มิตรสงเคราะห์, อาจารย์ วรากร ราชธา และดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร ณ ห้องซาลอน เอ ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดา กรุงเทพฯ
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ 33 จังหวัด 41 สถาบัน หนุนเสริมพลังโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ศิลปิน และผู้ประกอบการวัฒนธรรม เดินหน้าจัดงาน“มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง” 4 ภูมิภาค ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาสู่ซอฟต์ พาวเวอร์ จัดแสดงในงาน เพื่อหยั่งรากสำนึกท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมศิลปินและผู้ประกอบการวัฒนธรรม พร้อมโชว์ระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นแหล่งรวมสืบค้นต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
“มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง 4 ภูมิภาค” สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย บพท. เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและขยายผลการรับรู้ในวงกว้างถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจาก “คุณค่าสู่มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการวัฒนธรรม สาธิตและอบรมงานฝีมือ การแสดงของศิลปินท้องถิ่น นิทรรศการผลงานวิจัย แฟชั่นโชว์ การเสวนาระหว่างภาคีเครือข่าย พร้อมเปิดตัว Cultural Map Thailand ที่เชื่อมโยง 2,621 ชุดข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมไว้ที่ www.culturalmapthailand.info ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ระบบสารสนเทศ Cultural Atlas of Thailand ในอนาคตอันใกล้ และเชื่อมโยงไปสู่ Cultural Metaverse Thailand ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยโครงการวิจัยและจะเป็นระบบฐานข้อมูลด้านทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท. เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการสนับสนุนทุนวิจัย สำหรับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 48 โครงการ กระจายใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และมีผลการดำเนินงานที่มีสัมฤทธิผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม คนตกงานคนคืนถิ่นจากผลกระทบของ COVID-19 และผู้สูงวัยมีงานทำ ลดช่องว่างระหว่างวัย คนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม เยาวชนมีโอกาสในด้านอาชีพและสร้างรายได้ ยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดการกระจายรายได้สู่เมืองรอง และชุมชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ด้วยผลลัพธ์เหล่านี้จากโครงการวิจัย บพท. เล็งเห็นว่าการสร้างการรับรู้ของสาธารณะต่อการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นองคาพยพในการพัฒนาพื้นที่ จะนำมาซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนในหลากหลายมิติ การจัด “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ใน 4 ภูมิภาค จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ชุมชน ท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้าน ช่างฝีมือท้องถิ่น ผู้ประกอบการวัฒนธรรม ภาคีเครือข่ายและมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาพื้นที่จากฐานทุนทางวัฒนธรรมได้จัดแสดงและเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ศักดิ์และศรีของทุนทางวัฒนธรรมในงานมหกรรมนี้ และเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมนำเสนอและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมอันเป็นผลผลิตจากงานวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมเปิดตัว Cultural Map Thailand ที่จะพัฒนาไปสู่ Cultural Atlas of Thailand และตัวอย่าง Cultural Metaverse Thailand ที่ 48 โครงการวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อนและประสานงานโครงการ
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่ บุคคลสำคัญผู้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่ผ่านฐานทุนทรัพยากรด้านวัฒนธรรม กล่าวว่าทุนทางวัฒนธรรมถือเป็น “ขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาประเทศ” การฟื้นใจเมืองคือการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษหรือที่เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินมายาวนานเป็นฐานทุนที่มีอยู่ในทุกคนทุกครอบครัวสามารถเผยร่างสร้างสำนึกท้องถิ่นสร้างงานสร้างรายได้จากฐานทุนที่มีอยู่โดยไม่ต้องซื้อหาหรือนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรม ประเพณี พิธีกรรม การกินการอยู่ การละเล่น การแสดง ฯลฯ การสนับสนุนให้เจ้าของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ได้นำสิ่งที่ตนมีติดตัวมาปัดฝุ่น พัฒนา และสร้างนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้มาทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง “หุ้นส่วน” ของทุนทางวัฒนธรรมในทุกพื้นที่จะกลายเป็นขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาประเทศที่สร้างสมดุลแห่งความยั่งยืนของชุมชน ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันจากการรุกคืบของทุนนอกพื้นที่ ผลกระทบที่ได้จะมากกว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาซึ่งความสุขและความภาคภูมิใจในรากฐานทางวัฒนธรรม สำนึกรักษ์ท้องถิ่น และสำนึกสิ่งแวดล้อมของชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ฐานทุนนี้รวมถึงหนุนเสริมทักษะฝีมือเฉพาะของศิลปิน ช่างฝีมือท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการวัฒนธรรมจำนวนมากในประเทศ
งาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่ การพัฒนาพื้นที่” ในแต่ละภูมิภาคจะมีไฮไลท์และรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปตามมนต์เสน่ห์ของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยมีกำหนดการจัดงาน ได้แก่
ภาคใต้ วันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ภาคเหนือ วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณอาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 10-12 มีนาคม 2566 บริเวณถนนคนเดิน เลียบแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี
ภาคกลาง วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 บริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถ.เยาวราช กรุงเทพฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น