สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว THAI TRAVEL AGENTS ASSOCIATION (TTAA) จัดพิธีลงนามความร่วมมือของสมาคมท่องเที่ยว 6 สมาคม และ 1 สมาพันธ์ เพื่อร่วมมือกันในการทำให้
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) จัดแถลงข่าวและร่วมลงนามความร่วมมือของสมาคมท่องเที่ยว 6 สมาคม และ 1 สมาพันธ์ ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) โดยนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์ฯ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) โดยนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมฯ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) โดยนายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมฯ สมาคมผู้ประกอบนำเที่ยวไทย (สนท.) โดยนายพงศกร ชูวิชา นายกสมาคมฯ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) โดยนางสาวจิราพร อมรวิสิทธิ์กุล นายกสมาคมฯ และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) โดยนางสาวนีรชา วงศ์มาศา นายกสมาคมฯ ในความเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่ค้องร่วมมือกันในการทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ณ ห้องบอลล์รูม โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563
นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบดีว่าตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวจากปัญหาต่างๆ รวมถึงการส่งออกที่มีปัญหากับบางประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นรายได้หลักเข้าประเทศ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี พ.ศ. 2562 มีประมาณ 39 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 167 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาท
ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด การหยุดชะงักของการเดินทางท่องเที่ยวอันมาจากนโยบายด้านสุขอนามัยและมาตรการด้านสาธารณสุข ที่มีการประกาศปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งยังคงชะลอตัวทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
สมาคมไทยบริการท่องเที่ยวก่อตั้งมาร่วมกว่า 40 ปี เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยประเทศไทยได้พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไห้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินในระบบผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งปัจจุบันคงทราบว่าเกิดการชะลอตัวด้วยเช่นกัน สมาคมไทยบริการท่องเที่ยวมิได้นิ่งนอนใจ จึงได้ร่วมกับภาคต่างๆ ในรูปแบบ Plublic Private Parnership (PPP) คือการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน โดยภาครัฐมีความต้องการขับเคลื่อนนักท่องเที่ยวในกลุ่มกำลังซื้อสูง สมาคมฯ มีสมาชิกมากกว่า 800 หน่วยงาน และมีตลาดที่มีกำลังซื้อสูงตรงกับนโยบายภาครัฐ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสมาคมเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ จึงเร่งกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทยในด้านต่างๆ ดังนี้คือ
1. สร้างความเข้าใจในสินค้าทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจัดให้มีการเดินทางเพื่อศึกษาเส้นทาง โดยที่ผ่านมาได้เดินทางไปยังภาคใต้ ภาคอีสาน และในอนาคตอันใกล้นี้จะเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคกลาง
2.สร้างช่องทางการสื่อสาร และการขายผ่านออนไลน์ โดยมีการสร้างเว็บไซด์ TITF ONLINE ให้เป็นช่องทางสำหรับสมาชิกสมาคมในการติดต่อสื่อสาร และการขายผ่านออนไลน์
3. การอบรมเพื่อสร้างความรู้กับสมาชิกสมาคมในด้านต่างๆ
4. การร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) ฯลฯ
5. สร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายมหภาค สร้างภาคีเครือข่าย 6 สมาคม 1 สมาพันธ์ เพื่อร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดัน และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทยในตลาดกำลังซื้อสูงแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
6. จัดงานผู้ซื้อพบผู้ขายตลาดภายในประเทศ ผ่านงานเที่ยวทั่วไทย สไตล์ทัวร์นอก (TITF) ครั้งที่ 27 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งระบบ
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ณ วันนี้ คงจะไม่มีทางที่จะเหมือนเมื่อวาน "ดังคำกล่าวของท่านผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่ต้องอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ของเหล่าภาคีเครือข่ายทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทดแทนตลาดชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยที่ยังคงต้องรอต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) กล่าวเสริมว่า ในส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคซึ่งมีมากกว่า 100 สมาคมทั่วประเทศ พร้อมที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไปด้วยกันกับ 6 สมาคมท่องเที่ยว กระตุ้นการขายแพคเก็จทัวร์ ธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรมที่พักอาศัย ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ ฯลฯ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเดินหน้าต่อไป และยังเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการสร้างรายได้เข้าประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น