วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

DIT มอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566

DIT  มอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย (ครั้งที่ 41) 

และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566




         นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 (ครั้งที่ 41) และรางวัลการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันก่อน 24 เมษายน 2567 เพื่อเฟ้นหาและอนุรักษ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศไทย ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และสร้างต้นแบบเกษตรกร ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมข่าวคุณภาพสูงเป็นหลัก และยังมีการเชื่อมโยงการตลาดให้เกษตรกรผู้ชนะการประกวดเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ ขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน 




           นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรกว่า 4.7 ล้านครัวเรือน และประชาชนในประเทศส่วนใหญ่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก สะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรไทยที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ดำเนินนโยบาย พัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมชาวนา ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น




            พร้อมเน้นย้ำว่า ข้าวหอมมะลิถือเป็นข้าวในตลาดข้าวพรีเมียมที่มีชื่อเสียงด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว  มีเม็ดยาวเรียวสวย สีมันวาว หุงแล้วมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตย รสสัมผัสนิ่มนวล จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากที่สุดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แม้ราคาจะสูงกว่าข้าวชนิดอื่นแต่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การยกระดับเชิงนโยบายทั้งด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และให้ประเทศไทยยังคงไว้ซึ่งแหล่งผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิชั้นเลิศของโลก ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวสำคัญของโลก โดยในปี 2566 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงถึง 8.76 ล้านตัน นับได้ว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 178,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 28 โดยข้าวหอมมะลิยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ดีแม้ราคาสูงกว่าคู่แข่ง โดยมีปริมาณส่งออกในปี 2566 อยู่ที่ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 5.6 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน แคนาดา และฮ่องกง

“ตนเดือนเดินทางไปหลายประเทศได้รับความชื่นชมในข้าวไทย ไม่ว่าจะเป็นจีนในหลายมณฑล สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ทุกคนต่างชื่นชมถึงแม้ราคาจะสูงกว่าที่อื่น แต่ยังสัมผัสได้ในความพิเศษของข้าวหอมมะลิไทย ”





            ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเกษตรกรรายบุคคล และประเภทสถาบันเกษตรกร ในครั้งนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจาก 22 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวดจำนวนรวม 967 ตัวอย่าง และได้นำตัวอย่างข้าวขาวของผู้ที่สมัครเข้าร่วมประกวดฯ ตรวจสอบคุณภาพข้าวทางวิชาการ ทั้งเคมีและกายภาพ ส่งให้คณะกรรมการตัดสินการประกวดทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศพิจารณาคัดเลือกจนได้ผู้ได้รับรางวัลรวมจำนวน 21 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรรายบุคคล 18 ราย และสถาบันเกษตรกร 3 ราย เป็นโล่รางวัลเกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล รวมกว่า 625,000 บาท




            โดยในวันนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบรางวัลแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงสี ผู้ผลิตข้าวสารคุณภาพ ผู้ชนะการประกวดข้าวสารคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2566 รวม 11 รางวัล ในประเภทต่างๆ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย และข้าวสารเหนียวเมล็ดยาว สำหรับรายชื่อผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2566 ประกอบด้วย

ประเภทเกษตรกรรายบุคคล : ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ นายณรงค์  จันทรุ่ง จ.อุบลราชธานี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 นางจันทร์สมสบบง จ.พะเยา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 นายสุเรียนสังข์ลาย จ.สุรินทร์

ประเภทสถาบันเกษตรกร :  ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ วิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิสงเปลือย ม.5 ต.เมืองทอง จ.ร้อยเอ็ด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. นครพนม จำกัด จ.นครพนม

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวปลอดสารพิษตำบลแม่อ้อ จ.เชียงราย

          โดยภายในงานได้มีการเซ็น MOU ซื้อ-ขายข้าวเปลือกหอมมะลิล่วงหน้าในราคานำตลาด สูงกว่าราคาตลาด 500 บาท/ตัน จำนวน 6 คู่ กว่า 343.4 ตัน ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้าวที่มีคุณภาพสูงมีตลาดรองรับ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมการค้าภายในwww.dit.go.thหรือ Line@ MR.DIT 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ททท. จับมือเซ็นทรัลพัฒนา และยักษ์ใหญ่วงการอาร์ตทอย จัดงาน The World’s Great Celebration 2025

ททท. จับมือเซ็นทรัลพัฒนา และยักษ์ใหญ่วงการอาร์ตทอย  จัดงาน The World’s Great Celebration 2025  เทศกาลแห่งความสุขระดับโลก        เมื่อประเทศไ...