ททท. จัดกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง Happy Link : Thailand’ s Dream Destinations
ภายใต้โครงการ " The Link Local to Global" เส้นทางภาคเหนือจังหวัดน่าน-แพร่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. จัดกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง Happy Link : Thailand’ s Dream Destinations ภายใต้โครงการ " The Link Local to Global" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค ด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในมุมมองใหม่ นำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ประเพณี ผ่านพื้นที่เชื่อมโยง ส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงในหลากหลายมิติ ทั้งด้านคมนาคม สังคม ประวัติศาตร์ วิถีชีวิต และชุมชน ซึ่งจะสามารถสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยจัด Fam Trip 5 ภูมิภาค นำผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ ททท.และสื่อมวลชนลงสำรวจพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อนำมาทำโปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค โดยมีบริษัท พอล โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการนำเที่ยว
ทริปนี้เป็นของภาคเหนือ จังหวัดน่าน-แพร่ โดยคณะเราออกเดินทางสู่จังหวัดน่าน โดยสายการบิน แอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD3554 เมื่อไปถึงท่าอากาศยานน่านนคร คณะเราก็ออกเดินทางโดย รถตู้ปรับอากาศ VIP เดินทางสู่จังหวัดแพร่ ไปที่ "วิสาหกิจชุมชนไม้สักบ้านดอนมูล" ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยคุณปราณี ตระกูลจันทร์แสง ผู้บริหารบริษัท ดี เอ็ม เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ จำกัด ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนไม้สักบ้านดอนมูล เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำสินค้าไม้สักมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยสินค้าก็เป็นสินค้าทั่วๆไป ไม่มีการพัฒนาฝีมือ จากจุดนี้เอง เราจึงไปจดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนไม้สักบ้านดอนมูล แล้วทางวิสาหกิจชุมชนฯ ก็ได้รับโอกาสจากรัฐบาลได้รับเลือกเป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี หมู่บ้านท่องเที่ยว เราก็เลยต้องการเพิ่มจุดขายสินค้า ขยายตลาด จึงได้เข้าร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ โดยทำงานร่วมกัน ทางจังหวัดก็ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมพัฒนาฝีมือ เช่น การใช้ไม้ การอบไม้ การเข้าไม้ ซึ่งเมื่อก่อนสินค้าจะเป็นงานหยาบมาก เมื่อมีผู้มาอบรมทำให้มีฝีมือดียิ่งขึ้น ต้องเลือกเฟ้นไม้ คุณภาพไม้ เป็นไม้สักที่ถูกต้อง ซื้อจากองค์การป่าไม้ เมื่อได้ไม้มาก็นำมารีด มาโกรก แล้วนำผ่านกระบวนการอบ เพื่อไล่ความชื้นของไม้ ที่นี่มีครบวงจร จนได้สินค้าไม้สักที่มีคุณภาพ มีมาตราฐาน ด้วยการออกแบบ การทำสี และเวลาลูบแล้วก็จะเนียนเรียบ ไม่มีเสี้ยน แต่ถ้ามีเสี้ยนกไม่ใช่ของที่นี่แน่นอน สินค้าจึงเป็นที่นิยมในท้องตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังเล่าที่มาที่ไปแล้วก็พาคณะเราชมสินค้าไม้สักที่มีให้เลือกซื้อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของบูชาขงประดับ อาทิ พระพุทธรูป ท้าวเวสสุวรรณ องค์พญานาค พญาครุฑ ในหลวงรชกาลที่ 9 ช้าง ที่มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และสินค้าใช้งาน อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ เตียงนอน และเก้าอี้โยกสำหรับผู้สูงอายุ
ชมสินค้าไม้สักที่หลากหลายแล้ว คณะเราก็เดินทางไปชมผ้าโบราณกันต่อ ณ พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ของอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ นักสะสมผ้าโบราณชาวอำเภอลอง ที่ได้สะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของ "เมืองลอง" และผ้าโบราณของชุมชนใกล้เคียง และได้ร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพื้นบ้านสาขาสิ่งทอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2535 จากนั้นจึงได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณให้บุคคลทั่วไปชมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 โดยอ.โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของเป็นผู้พาพวกเราชมจิตรกรรมเวียงต้า งานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้หลายแผ่นที่ประกอบเป็นฝาผนัง ที่จำลองมาจากภาพจิตรกรรมของช่างพื้นบ้านในอดีตที่อยู่ในวัดต้าม่อน อำลองลอง จังหวัดแพร่ ปัจจุบันถูกนำไปเก็บไว้ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยลักษณะของภาพเขียนเป็นรูปแบบงานจิตรกรรมของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน แสดงถึงการแต่งกายของสตรี เมืองลองอย่างชัดเจน จากนั้นพาไปชมผ้าโบราณ สวยสง่า ล้ำค่า ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เคียงคู่อารายธรรม พร้อมบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของผ้าลวดลายต่างๆ ที่ปักลวดลายสวยงามประณีต อย่างผ้าซิ่นทองคำศิลปะไทยเขิน วิ่นตีนจกแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซิ่นตีนจกบ้านไหล่หิน จังหวัดลำปาง ซิ่นตีนจกอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซิ่นตีนจกลาวครั่ง บ้านสระยายชี จังหวัดพิจิตร ฯลฯ รวมทั้งพาชมชุดเครื่องแต่งกายที่ทำขึ้น เพื่อใช้ใส่ในภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ อย่างสุริโยทัยฯ พร้อมอธิบายถึงวิธีการเก็บผ้าโบราณ โดยอาศัยภูมิปัญญาของคนโบราณที่ทำให้ผ้าสามารถอยู่ได้นานกว่า 200 ปี ที่นี่ยังมีตุ๊กตาบาร์บี้ของบุคคลสำคัญรวมทั้งดาราที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก๊อดฟาเธอร์ บรู๊ซลี ไมเคิล แจ๊คสัน เอสวิส เพลสลี่ย์ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย แรมโบ้ โจ๊กเกอร์ สมเด็จพระนเรศวร ฯลฯ และตุ๊กตาบาร์บี้ในชุดไทยและชุดต่างๆ มากมายไว้ให้เด็กๆ ได้ชมด้วย
ชมผ้าโบราณจนหนำใจ พร้อมช้อปปิ้งผ้าซิ่นตีนจกผ้าพื้นเมืองติกดไม้ติดมือแล้ว ก็ได้เวลาอาหารกลางวัน มื้อนี้คณะเราทานเมนูอาหารถิ่นอัตลักษณ์นั่นคือ “ขนมจีนน้ำย้อย” อาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่อของอำเภอลอง จังหวัด ชื่อนี้ที่ชวนให้คณะเราสงสัยว่าหน้าตาและรสชาติจะเป็นอย่างไร แล้วทำไมถึงเรียกน้ำย้อย จึงได้คำตอบว่าเหตุที่เรียกว่า “ขนมจีนน้ำย้อย” นั้น ก็มีที่มาจากการทำเส้นขนมจีนแบบสดๆ เรียกว่าการบีบเส้นสด ซึ่งตอนจับเส้นขนมจีนล้างสะเด็ดน้ำ จะมีน้ำไหลย้อย จึงเป็นที่มาของชื่อขนมจีนน้ำย้อยนั่นเอง เมื่อมาถึงเมืองลองแล้วก็ต้องชิมขนมจีนน้ำย้อยกันให้ได้ คณะเราเลยมาทาน "ขนมจีนน้ำย้อยบ้านครูอินสม" ที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยจริง เป็นต้นตำหรับความอร่อย ถ้าได้ชิมแล้วจะติดใจ หลังทานขนมจีนน้ำย้อยคู่กับ “น้ำพริกน้ำย้อย” เป็นน้ำพริกสูตรเด็ดที่ทำขึ้นเพื่อกินคู่กับขนมจีนเส้นสด ซึ่งน้ำพริกน้ำย้อย ก็คือน้ำพริกที่มีส่วนผสมของพริก กระเทียม และหอมเจียว ที่นำมาทอด แล้วคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรส ได้น้ำพริกแห้งๆ รสเด็ดที่ชวนกิน หรือกินคู่กับน้ำเงี้ยวทั้งแบบใสและแบบน้ำข้น กินกับผักต้ม ส้มตำแล้ว ก็ต้องยกนิ้วให้ว่า "อร่อยเด็ดสะระตี่เลยทีเดียว หากใครมีโอกาสได้แวะมาอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ก็ไม่ควรพลาดชิมขนมจีนน้ำย้อยของที่นี่ ทานเสร็จแล้ว คณะเราก็แวะชมกระบวนการทำขนมเส้นน้ำย้อยและน้ำพริกน้ำย้อยแบบดั้งเดิมกันด้วย
หลังอิ่มหนำสำราญ เดินไปอีกนิดเดียวไม่ถึง 5 นาที ก็ถึง "โฮงซึงหลวง" ที่อยู่ใกล้กัน ที่นี่ป็นแหล่งเรียนรู้ที่เน้นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เมื่อคณะไปถึงคุณบอม-จีรศักดิ์ ธนูมาศ ผู้ปลุกปั้นโฮงซึงหลวงแห่งนี้ ก็พาเราชมกรรมวิธีการผลิตเครื่องดนตรีทุกขั้นตอนที่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด โดยจะนำไม้เนื้อแข็ง ไม่ว่าจะเป็นไม้สัก ไม้มะค่า ไม้มะเกลือ กะลามะพร้าวที่คัดสรรอย่างดี มาผลิตเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองหลายอย่าง ทั้งสะล้อ ซอ ซึงและพิณเปี๊ยะ จากฝีมือแรงงานและวัสดุในท้องถิ่น จากนั้นก็พาเราชมเครื่องดนตรีที่มีราคาเริ่มต้นที่ 900-4,500 บาทขึ้นไปแล้วแต่ชนิดของไม้ และคุณบอมยังได้บอกกับเราอีกว่า เขากลัวว่างานศิลปะแขนงนี้จะสูญหาย จึงอยากให้มีคนสืบทอด เขาจึงอยากถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษา โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด ผู้ใดสนใจโทร. 085-713-8021 รวมทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้งานฝีมือ ในท้องถิ่นแขนงต่างๆ อีกด้วย และขอฝากไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและสนับสนุนแก่ศิลปะพื้นบ้านทุกแขนงอย่างจริงจัง
ชมการทำเครื่องดนตรีและฟังเสียงดนตรีเพราะๆ กันแล้ว คณะเราก็เดินทางต่อไปที่บ้าน "Baisri" (บายศรี) ของอาจารย์ช้าง-ศักดิ์จิระ เวียงเก่า ดีไซน์เนอร์วัย 63 ปี ผู้เปลี่ยนผ้าม่อฮ่อมบ้านเกิดให้กลายเป็นผ้าเมืองแพร่แบรนด์ "บายศรี" ที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 30 ปี
หลังชมช้อปสินค้าม่อฮ่อมแบรนด์บายศรีแล้ว ก็เดินทางไปกราบสักการะ "ศาลหลักเมือง จังหวัดแพร่" ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ ศาลหลักเมืองจังหวัดแพร่ ในอดีตนั้นเราจะเรียกบริเวณนี้ว่า "สะดือเมือง" ที่มีสภาพเป็นพื้นที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย โดยเป็นที่ตั้งของศาลหลังเล็กๆ ที่ชาวบ้านเคารพบูชา เรียกกันว่า "ตูบผี" ต่อมาได้มีการตัดต้นไม้ใหญ่ออก และนำเอาหลักศิลาจารึกหลักหนึ่งที่พบในวัดร้างศรีบุญเริงมาตั้งเอาไว้ ซึ่งหลักศิลาจารึกมีการจารึกด้วยภาษาไทยอาหม กล่าวถึงการสร้างวัดศรีบุญเริงในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เลยมีการยึดถือเอาจารึกหลักนี้ ให้กลายมาเป็นหลักเมืองของจังหวัดแพร่ หลังจากนั้นทางจังหวัดแพร่ก็ได้มีการสร้างเสาหลักเมืองขึ้นมาใหม่ โดยสร้างด้วยไม้ยมหิน ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด และรื้อศาลหลักเมืองเดิมแล้วสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นอาคารแบบจัตุรมุข ศิลปะแบบล้านนา พร้อมกับลงรักปิดทอง ส่วนศิลาจารึกอันเก่าก็ยังคงตั้งไว้ที่ด้านหลังของเสาหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่
ขอพรศาลหลักเมืองเป็นสิริมงคลแล้ว ก็เดินทางเข้าสู่โรงแรม เฮือนนานา บูติก โฮเต็ล ที่พัก เพื่อพักผ่อนอริยาบถ ก่อนเดินทางไปรับประทานอาหารเย็น ณ ร้านอาหารครัวไม้เมือง มื้อนีเป็นอาหารพื้นเมือง ทานอาหารเสร็จแล้วก็เดินทางกลับสู่ที่พัก เพื่อพักผ่อนเอาแรงไว้ลุยกันต่อในวันพรุ่งนี้
เช้าวันใหม่ คณะเราก็เดินทางเดินทางสู่ "บ้านมัดใจ" (Banmatjai Homemade & Cafe) จุดหมายปลายทางของคนรักงานคราฟต์ ตำบลห้วยม้า อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เมื่อไปถึงเราจะเห็นเรือนไม้เล็กๆ ที่สวยโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอันแสนร่มรื่นของพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ เขียวครึ้มไปทั่วบริเวณร้าน ตกแต่งสุดแสนน่ารักด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อนผสมผสานกับของประดับสไตล์พื้นเมืองแพร่ ที่นี่เราสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตั้งแต่การรู้จักกับใบฮ่อม พืชที่ให้สีน้ำเงินเข้มตามธรรมชาติ การปลูกฮ่อม การก่อหม้อ ไปจนถึงการเรียนรู้การใช้วัสดุต่างๆ ทั้งเสื้อ กระเป๋าผ้า ผ้าเช็ดหน้า มาทำการมัดเพื่อให้ผ้าเกิดลวดลายต่างๆ หลังการย้อมด้วยน้ำฮ่อม ซึ่งผ้าแต่ละผืนที่ทำออกมาก็จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการมัดของแต่ละคน และฮ่อมก็ไม่ได้ใช้ย้อมผ้าเท่านั้นแต่สีน้ำเงินจากธรรมชาตินี้ยังถูกนำไปใช้เพื่อสร้างสีสันตกแต่งเซรามิกได้อีกด้วย เพราะสีธรรมชาตินี้สามารถทนต่อความร้อนสูงของเตาเผาได้ สีที่เราระบายตกแต่งเอาไว้บนดินที่ถูกปั้นก่อนนำไปเผาก็จะยังคงอยู่ไมหายไปไหน แต่วันนี้คณะเราเลือกที่กิจกรรมเวิร์กชอปผ้ามัดย้อมเป็นกระเป๋าผ้า โดยมี "มะปราง-ชิดชนก สุชนก" เป็นวิทยากรบรรยายและสอนวิธีการมัดลวดลาย ก่อนที่จะนำไปย้อมกับน้ำฮ่อม คณะของเราต่างออกแบบมัดลวดลายต่างๆ ตามที่ตนเองจินตนาการแล้วนำไปย้อมในน้ำฮ่อม จนออกมาเป็นกระเป๋าผ้ามัดย้อมที่สวยงาม แต่ละใบมีลวดลายไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน และมีใบเดียวในโลก สำหรับจุดเริ่มต้นของ “บ้านมัดใจ” ซึ่งเป็นทั้งคาเฟ่ เวิร์กชอปงานผ้าและงานเซรามิก มีที่มาจากสองสาวพี่น้อง “มะปราง-ชิดชนก สุชนก” กับ “ปลาย-ชฎานุช สุชนก” ที่เรียนจบด้านศิลปะมาคนละแขนง พี่สาวเก่งเรื่องงานผ้า น้องสาวเก่งเรื่องงานเซรามิก แล้วทั้งคู่กับมาร่วมกันเปิดบ้านให้ผู้มาเยือนได้รู้จักงานศิลปะที่ตนเองถนัด
หลังชื่นชอบกับกระเป๋าผ้าที่ตนเองทำขึ้น ก็ได้เวลาเดินทางไปกราบสักการะ "พระธาตุช่อแฮ" พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ที่ "วัดพระธาตุช่อแฮ" ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ มีลักษณะสวยงามตามแบบศิลปะเชียงแสนวัดพระธาตุช่อแฮ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) โดยขุนลัวะอ้ายก๊อม ภายในบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า มีลักษระเป็นเจดีย์พุกามทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา หุ้มด้วยทองจังโก้ตลอดทั้งองค์ มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รุชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 9 ตามด้วยการกราบสักการะพระประธานที่ประดิษฐานในพระอุโบสถ และกราบสักการะพระพุทธโลกนาถบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะแบบสุโขทัยผสมอยุธยา สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3.60 เมตร สูง 7 เมตร ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารนาคปรกที่อยู่ด้านล่าง
ขอพรเป็นสิริมงคล ก็เดืนทางไปยังบ้านทุ่งโฮ้ง เป็นหมู่บ้านในเขตอำเภอเมือง ที่มีผลิตภัณฑ์พื้นบ้านม่อฮ่อมขึ้นชื่อมาก ได้แก่ ผ้าม่อฮ่อมซึ่งถือกันว่า "เนื้อดี ทนทาน สวยงาม" ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ แล้วคณะเราจะพลาดได้ไงที่จะไม่ซื้อเป็นของตนเอง ได้คนละชุดสองชุด แต่บางคนก็ซื้อหลายชุดเป็นของฝากติดไม้ติดมือ จากนั้นก็เดืนทางไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารฮ่มไม้ปลายนา
แล้วคณะเราก็ได้เวลาอำลาจังกวัดแพร่ เดินทางไปกราบสักการะ "ศาลหลักเมืองจังหวัดน่าน" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เสามิ่งเมือง" ภายใน “วัดมิ่งเมือง" ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สร้างขึ้นโดย สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ทรงโปรดให้ฝังเสาพระหลักเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2331 ณ สถานที่ที่ทรงเสี่ยงทาย หรือก็คือที่ข้างวัดร้างเก่า สันนิษฐานกันว่าวัดร้างนี้คือ "วัดห้วยไคร้" ในสมัยสุโขทัย โดยเสามิ่งเมืองนั้นจะมีลักษณะเป็นไม้สักทองขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร สูง 3 เมตร หัวเสาเกลาเป็นรูปของดอกบัวตูม ตัวเสาฝังลงกับพื้น โดยไม่มีศาลครอบเอาไว้ มาจนกระทั่งในปีพ.ศ. 2506 เมืองน่านเกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมถึงเสามิ่งเมือง ทำให้ตัวเสาอายุร้อยกว่าปีนั้น เริ่มผุกร่อนเลยโค่นล้มลงมา ต่อมาทางวัดมิ่งเมืองพร้อมด้วยชาวน่านก็ได้ร่วมกันนำเสามิ่งเมืองน่านที่โค่นล้มนั้นมาเกลาแต่งใหม่ พร้อมกับสลักหัวเสาให้เป็น "พระพรหมสี่หน้า" ที่มีความหมายถึง "เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา" รวมถึงสร้างศาลทรงไทยจตุรมุขครอบเสามิ่งเมืองขึ้นและได้มีพิธีการประกอบตั้ง เสาหลักเมืองน่าน เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2516 ส่วนศาลหลักเมืองน่านหลังปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2548 หลังจากที่ศาลหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมลงมาก โดยร่วมใจกันสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่ขึ้นมา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติแด่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังกราบสักการะขอพรแล้ว ก็เดินขมความสวยงามวิจิตรของสถาปัตยกรรมอุโบสถ ที่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัย ที่มีลายปูนปั้นโดดเด่นสวยงามวิจิตรบรรจงที่ผนังด้านนอก ส่วนภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองน่านโดยช่างท้องถิ่นเป็นผู้วาด
ตามด้วย "วัดภูมินทร์" อำเภอเมือง จังหวัดน่าน สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครอง เมืองน่าน เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ผู้สร้างวัดแต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็น "วัดภูมินทร์" เมื่อไปถีงเราความสวยตวามแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยก็คือ เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข พระประธานจตุรพักตร์ นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค พระอุโบสถจตุรมุขนี้กรมศิลปกรได้สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกไปยังประตูทั้งสี่ทิศ หนเบื้องพระปฤษฏางค์ชนกันประทับ นั่งบนฐานชุกชี ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันไดทางทิศไหน ก็จะพบพระพักตร์ของพระพุทธรูปทุกด้าน หลังกราบสักการะพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง 4 ทิศแล้ว ก็เดินภาพจิตรกรรมฝาผนังมาสเตอร์พีช "ปู่ม่านย่าม่าน กระซิบรักบรรลือโลก" เป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ที่วาดขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2410-2417 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ในสมัยเจ้าอนันตฤทธิวรเดชครองเมืองน่าน ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ ด้วยมุมมองและแนวคิดที่ทันสมัย รู้จักนำสีสันมาใช้ เช่น สีแดง ฟ้า ดำ น้ำตาลเข้ม และมีวิธีลงฝีแปรงคล้ายภาพวาดสมัยใหม่ เคยมีการสันนิษฐานว่าบุรุษในภาพน่าจะเป็นหนานบัวผัน แต่ทว่าได้รับการปฏิเสธในเวลาต่อมาด้วยตัวหนานบัวผันเป็นชาวไทลื้อ ทั้งนี้ได้การแต่งคำบรรยายภาพดังกล่าวเป็นภาษาถิ่นพายัพอันสละสลวย ซึ่งแต่งและแปลโดยสมเจตน์ วิมลเกษม ความว่า "คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…" (ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะแย่งความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ล้อเลียนภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นภาพบุรุษตะโกนใส่สตรีผู้หนึ่ง เพื่อล้อเลียนภาพกระซิบ โดยสตรีใช้มือปิดหูเอาไว้สวนผ้าถุงลายน้ำไหลเมืองน่าน ส่วนบุรุษไว้ผมทรงโมฮอว์ก ด้วยทรงให้เหตุผลกับผู้ตามเสด็จว่า "ต้องตะโกนกัน เพราะกระซิบไม่ได้ยินแล้ว อายุมากกันแล้ว" ปัจจุบันภาพฝีพระหัตถ์ดังกล่าวถูกจัดแสดงที่หอศิลป์ริมน่าน และเดินชมภาพจิตรกรรมอื่นๆอีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติคันธกุมารและเนมีราชชาดก รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านในอดีต ภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่าน ช่วงรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน และภาพบุคคลขนาดใหญ่เท่าตัวคน ที่อาจมีชีวิตอยู่จริงในเวลานั้นความใหญ่โตมโหฬารของภาพบุคคล 6 ภาพ ที่วาดได้งดงามมากเพราะบรรยายถึงอาภรณ์การแต่งกาย ของหญิงชาย โดยเฉพาะสามารถถ่ายทอดอารมณชีวิตชีวาและแสดงถึงลีลาอัน อ่อนช้อยได้เป็นอย่างดี
ไปจังหวัดแพร่กราบสักการะพระธาตุช่อแฮ มาจังหวัดน่านก็ไม่พลาดที่จะไปกราบสักการะ "พระธาตุแช่แห้ง" พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเถาะ ที่ "วัดพระธาตุแช่แห้ง" ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1896 ในสมัยพระยาการเมืองโดยช่างฝีมือชาวล้านนา อายุประมาณ 600 ปี ภายในบรรจุพระธาตุจำนวน 7 องค์ และพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์ทอง อย่างละ 20 องค์ มีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ เป็นศิลปะการก่อสร้างที่มีความวิจิตรงดงามอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ลักษณะโดยรอบขององค์พระธาตุเป็นการบุด้วยทองจังโก ในส่วนทางเดินขึ้นสู่องค์พระธาตุนั้นจะเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าลักษณะของการปั้นจะเป็นลายนาคเกี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของช่างฝีมือและศิลปะของจังหวัดน่านโดยแท้จริง ตามด้วยการกราบสักการะพระเจ้าล้านทอง พระประธานในวิหารหลวง พุทธลักษณะปางมารศรีวิชัย ศิลปะล้านนา ประทับนั่งบนฐาน
กราบขอพรเป็นสิริมงคลแล้ว ก่อนกลับกรุงเทพมหานคร แวะชิมขมม "ร้านบ้านยายกรณ์" ซึ่งมีขนมหวานหลากหลายให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บัวลอย เต้าส่วน ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวฟ่าง และไอศครีมโฮมเมด ฯลฯ โดยยายอาภรณ์ ไชยประสิทธิ์ อดีตครูที่ชอบวิชาคหกรรม จึงทำอาหารและขนมขายเป็นรายได้เสริมยามว่าง และมักทำขนมทานกันในหมู่ญาติ ซึ่งได้รับคำชมอยู่เสมอว่า "อร่อย ไม่หวานมาก" แถมยังมีไอศกรีมกะทิโฮมเมด ที่ทานกับขนมหวานแล้วเข้ากันได้ดีมากอีกด้วย คุณยายจึงมีความคิดอยากอนุรักษ์ขนมหวานรสชาติดั้งเดิมให้คนเมืองน่าน ตลอดจนนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสลิ้มลองในราคาย่อมเยา จึงได้ตัดสินใจเปีดร้าน "ขนมบ้านยายภรูณ์" เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 โดยใช้บ้านหลังเก่าของคุณยาย ซึ่งเคยเป็นแหล่งเลี้ยงตัวไหมเพื่อนำมาทอผ้าไหมเป็นที่แรกของเมืองน่าน อีกทั้งยังมีบ่อน้ำโบราณสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2425 อายุ 100 กว่าปี ที่ยังคงใช้งานได้อยู่ และมีการปรับปรุงร้านในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 ให้มีความสวยงาม สะดวก สะอาด และถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้ทานขนมในบรรยากาศสบายๆ อบอุ่น และเป็นกันเอง หลังทานขนมที่ขึ้นชื่อและรสชาติอร่อยถูกปากแล้ว
จากนั้นก็สมควรแก่เวลาที่คณะเราต้องเดินทางสู่ท่าอากาศยานน่านนคร เพื่อเดินทางโดยสายการบินแอร์ เอเชีย เที่ยวบินที่ FD 3559 นำท่านเดินทางสู่กรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ พร้อมเปี่ยมล้นไปด้วยความสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น