วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ททท. กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สธทท. และอ.มุ่ย หูทิพย์ จัดทริปพิเศษ วิจิตรอลังการยิ่งใหญ่กับ "ตามรอยวิจิตรเส้น ทางสายศรัทธา" บนเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำของแผ่นดิน

 ททท. กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สธทท. และอ.มุ่ย หูทิพย์ จัดทริปพิเศษ

วิจิตรอลังการยิ่งใหญ่กับ "ตามรอยวิจิตรเส้น

ทางสายศรัทธา" บนเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ

ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำของแผ่นดิน 


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) และ ชวิศ ชื่นเจริญ หรือที่รู้จักกันในนาม "อ.มุ่ย หูทิพย์" โหราจารย์ชื่อดังของประเทศไทย ร่วมกันจัดทริป "ตามรอยวิจิตรเส้นทางสายศรัทธา" ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทริปพิเศษบนแม่น้ำของแผ่นดิน บนเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ โดยมีนักท่องเที่ยว ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ร่วมเดินทางสายบุญกว่า 160 ท่าน โดยมี บริษัท ซิลเวอร์สโตนทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในการพาเดินทางท่องเที่ยว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566



คณะสายบุญเริ่มเดินทางสู่วัดแรกคือ  "วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร" ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย​ เขตสัมพันธวงศ์​ กรุงเทพฯ เดิมชื่อว่า “วัดสามจีนใต้” ซึ่งได้ตั้งชื่อวัดตามจำนวนของผู้สร้างที่เป็นชาวจีน 3 คน โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด จนถึงปี พ.ศ.2482 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร"  เพื่อกราบสักการะ "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" หรือ "พระสุโขทัยไตรมิตร"​ หรือที่ชาวบ้านเรียก​ว่า "หลวงพ่อทองคำ" ที่ประดิษฐาน​อยู่​ในมณฑป​ ​ องค์พระพุทธรูปสร้างด้วยทองคำแท้ทั้งองค์ หนักถึง 5.5 ตัน​ ถือเป็นพระพุทธ​รูปทองคำที่ใหญ่และหนักที่สุดในโลก​ จนได้รับการบันทึกในกินเนสส์​บุ๊ค เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยปางมารวิชัย มีหน้าตักกว้าง 3.10 เมตร มีหน้าตัก กว้าง 6 ศอก 1 คืบ ถอดออกได้เป็น 9 ชิ้น คือ พระพาหาทั้งสอง พระหัตถ์ทั้งสอง พระชงฆ์ทั้งสอง พระเพลาทั้งสอง และตรงพระศอ โดยมีกุญแจสำหรับถอดและประกอบกันเข้าจนสนิทเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ขอพรในด้านเสริมความมั่นคงทางการเงิน ทำให้มีความร่ำรวย มีโชคลาภเงินทองใช้ตลอดปี

และกราบสักการะ “พระพุทธทศพลญาณ” หรือ “หลวงพ่อโต วัดสามจีน” พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล มีการงานที่มั่นคง



จากนั้นเดินทางสุ่ "วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร" ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสระแก”  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบเมืองตั้งแต่บางลำพูถึงตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองหลอด และคลองเหนือวัดสระแก พระราชทานนามว่า "คลองมหานาค" เมื่อขุดคลองแล้วพระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ”  ซึ่งแปลว่า ชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา เนื่องจากวัดนี้เคยเป็นที่ประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชาเพื่อปราบจลาจลในกรุงธนบุรีและเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีพุทธศักราช 2325 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามว่า "สุวรรณบรรพต" มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราช เพื่อร่วมห่มผ้าพระเจดีย์พระบรมบรรพต

ตามด้วยการกราบสักการะขอพรพระอัฏฐารส เพื่อให้มีกินมีใช้ไม่ขาดมือ พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุด ในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว มีพุทธลักษณะศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุ 700  ปี หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย (ธรรมเนียมการสร้างพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในแผ่นดิน ให้คนในแผ่นดินเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์) พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  4 ทรงเฉลิมพระนามพระอัฏฐารสองค์นี้ว่า "พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร"



ช่วงบ่ายก็เดินทางสู่ "วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร" ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ สร้างในสมัยกรุงธนบุรี เรียกว่า "วัดเจ๊สัวหง หรือแจ๊สัวหง หรือเจ้าสัวหง หรือวัดขรัวหง" เพราะตั้งตามชื่อของเศรษฐีชาวจีนผู้สร้างคือ นายหง ในสมัยกรุงธนบุรีเรียกว่า "วัดหงษ์อาวาสวิหาร"  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เรียกว่า "วัดหงส์อาวาศวรวิหาร" สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เรียกว่า "วัดหงส์อาวาสวรวิหาร" สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เรียกว่า "วัดหงส์รัตนาราม" สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรียกว่า "วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร" เมื่อไปถึงคณะเรากราบสักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช

ต่อด้วยการกราบสักการะเทพต่างๆ ในวิหาร 5 แม่ทัพสวรรค์ที่อยู่ข้างๆ  โดยวิหารนี้เริ่มก่อตั้งเมื่องานเทศกาลกินเจพ.ศ. 2565 โดย พระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ที่เห็นว่ามีลูกหลานคนจีนอยู่รอบๆ บริเวณวัดหงส์ฯ และทางวัดหงส์ก็ไม่เคยจัดงานเทศกาลกินเจมาก่อน ก็เลยมีดุลพินิจที่จะจัดงานเทศกาลกินเจเมื่อปีที่แล้วเป็นครั้งแรก ปรากฎว่ามีลูกหลานคนจีนมากราบไหว้ในเทศกาลกินเจจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ เจ้าสัวจากเยาวราชและที่อื่นๆ รวมทั้งบริเวณรอบๆ มากราบไหว้ ณ ที่แห่งนี้ พระธรรมวชิรเมธีก็เลยเห็นว่าพระเจ้าตากสินมหาราชมีเชื้อสายจีน ท่านก็นับถือเทพจีน เราควรจะมีศาลอยู่ ณ ตรงนี้ เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนได้เข้ามากราบไหว้นั่นคือจุดเริ่มต้นในการสร้างวิหาร 5 แม่ทัพสวรรค์นี้ วิหารนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2566 มีองค์ประธานเป็น 5 แม่ทัพสวรรค์ มีองค์เทพนาจา หรือ "จ่งตั๋นหงวนโส่ย" เป็นประธานหลัก ขอพรในเรื่องความสำเร็จที่ยังค้างคาอยู่และอยากให้สำเร็จในเร็ววัน ส่วนแม่ทัพอีก 4 องค์ ได้แก่ เทพลุ่ยกง เทพเอ้อหลางเสิน เทพคังหงวนโส่ย และเทพเชียงเหล่าจิน ภายในวิหารยังมีองค์เทพเจ้ากวนอู ขอพรในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ การงาน ค้าขาย บริวาร ส่วนใหญ่จะมีทหาร ตำรวจ มาขอ พวกเจ้าสัวก็มาขอเรื่องการค้าขาย พระแม่พระโพธิสัตว์พันมือ ขอพรในเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก มีลูกหลานมาขอพรเรื่องสุขภาพและประสบความสำเร็จในเรื่องของสุขภาพ  องค์เจ้าพ่อเห้งเจีย หรือ "ไต้เสี่ยฮุกโจ้ว" ขอพรเรื่องสติปัญญา ช่องทางทำมาหากิน และองค์ไฉ่ซิงเอี๊ย 5 พระองค์ หรือเทพเจ้าโชคลาภและเงินตรา ขอพรในเรื่องโชคลาภ

และในช่วงเทศกาลกินเจ เดือนตุลาคม 2566 ที่วิหารแห่งนี้จะมี  ตั่วเหล่าเอี๊ย เจ้าพ่อเสือ หรือเหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ ขอพรในเรื่องของอำนาจบารมีโดยเฉพาะ จึงขอเชิญชวนมาร่วมกราบไหว้ในเทศกาลกินเจ ศาลนี้เปิดทุกวัน และในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ เผื่อลุูกหลานคนไหนมีสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคลติดตัวมา เมื่อเดินข้ามสะพานสิ่งที่ไม่ดีก็จะถูกปัดเป่าออกไปให้หมด พบแต่สิ่งดีๆ เข้ามา

จากนั้นก็กราบสักการะ"พระแสนเมืองเชียงแตง" หรือพระแสน เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง 1 เมตร หนัก 160 ชั่ง (1 ชั่ง เท่ากับ 80 บาท) มีพุทธลักษณะงดงามอย่างยิ่ง องค์พระเป็นทองเนื้อห้า ที่ฐานพระมีอักษรสมัยล้านช้างจารึกอยู่ สังฆาฏิชนิดยาวทาบลงมาถึงพระนาภีแบบลังกาวงศ์ พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีเป็นเปลวยาวขึ้นแบบลังกาวงศ์ รอบฝังแก้วผลึก 15 เม็ด นิ้วพระพัตถ์ไม่เสมอกันแบบพระเชียงแสนและสุโขทัยยุคแรก พระเศียรโตเขื่องกว่าส่วนพระองค์จนสังเกตเห็นชัด พระเนตรฝังแก้วผลึกในส่วนสีขาวและฝั่งนิลในส่วนสีดำ ฐานรองเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงาย เดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น เมื่อปูนที่หุ้มอยู่กระเทาะออก จึงได้เห็นเนื้อโลหะข้างในว่ามีสีทอง พระพุทธรูปหลวงพ่อแสนเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงอัญเชิญพระแสนมาจากเมืองเชียงแตง (ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของนครจำปาศักดิ์ อันเป็นประเทศราชของสยาม) เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2401

พร้อมพรมน้ำพระพุทธมนต์จากบ่อน้ำศ้กดิ์สิทธิ์แห่งชัยชนะหน้าพลับพลาที่มีพระบรมรูปหล่อ"สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดเท่าพระองค์จริงประดิษฐานอยู่ เพื่อความเป็นสิริมงคล มีชีวิตที่รุ่งเรือง ค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีโชคมีชัย ศัตรูหมู่มารพ่ายแพ้ แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นบ่อน้ำมนต์ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริ ให้ทำบ่อน้ำที่เปี่ยมมนต์ขลัง เพื่อให้แม่ทัพนายกองได้อาบดื่มเสริมกำลังใจ ในการนำธงทัพดวงตรามหาเดชขยายพระเดชานุภาพ โดยมีตำนานเขียนไว้ว่า "บ่อน้ำแห่งนี้มีการเสกสร้างโดยสายวิชาของวัดประดู่โรงธรรม กรุงเก่า กลางบ่อน้ำว่ากันว่า ได้มีการฝังแผ่นศิลาอาถรรพ์ลงอักขระมนต์ตราไว้ จึงทำให้น้ำทุกหยาดหยดของบ่อนี้เปี่ยมด้วยเวทมนต์อันศักดิ์สิทธิ์  ที่สำคัญเคยมีผู้นำนำมนต์จากที่นี่ ไปใช้แก้คุณไสย ซึ่งได้รับการบอกเล่าว่า ได้ผลอย่างอัศจรรย์ คนที่โดนคุณไสย หายจากอาการลุ่มหลงที่ผิดธรรมชาติ กลายเป็นหูตาสว่าง นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำมนต์ ที่อยู่รายรอบโดยรอบทั้งสี่ทิศ ซึ่งมีการระบุพุทธคุณด้านต่าง ๆ เช่น ตะวันออก พุทธคุณด้านเมตตามหานิยม  ทิศเหนือ พุทธคุณด้านบำบัดโรคภัย ทิศใต้ พุทธคุณด้านโชคลาภ การค้าขาย และทิศตะวันตก พุทธคุณด้านคงกระพันชาตรี เป็นต้น



หลังพรมน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็เดินทางไปที่ "วัดอรุณราชวราราม" แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ "วัดมะกอก" และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันแต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า "วัดแจ้ง" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” เพื่อห่มผ้าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิมที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิมและขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เห็นในปัจจุบัน องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่างๆ จำนวนมหาศาลจากประเทศจีน  เป็นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพ รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย 

ต่อด้วยการกราบสักการะพระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์  ลงรักปิดทอง หล่อขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัย รัชกาลที่ 2 หน้าตักกว้าง 1.75 เมตร ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี เบื้องหน้าพระพักตร์มีรูปพระอัครสาวก 2 องค์ หันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน ระหว่างกลางพระอัครสาวก มีพัดยศพระประธานตั้งอยู่ พัดยศนี้เป็นพัดยศของพระราชาคณะชั้นเทพ โดยสังเกตได้ที่ใบพัดจะมีเพชรพลอยประดับอยู่ เล่ากันว่าหุ่นพระพักตร์ปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ส่วนพระวรกายปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และที่ฐานพระพุทธ​อาสน์​ของพระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ

 และบูชาพญายักษ์แห่งวัดแจ้ง ที่ถือว่าเป็นรูปปั้นพญายักษ์ที่เก่าที่สุด ตามประวัติมีบันทึกไว้ว่า "ยักษ์ที่วัดแจ้ง มีอยู่ 2 ตน คือ ทศกันฐ์ และ สหัสเดชะ ยืนอยู่ที่หน้าซุ้มประตูมงกุฎ หน้าพระอุโบสถข้างละตน ยักษ์และประตูนี้เป็นของที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นมาตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 " สร้างขึ้นตามคติพระพุทธศาสนา คือพญายักษ์เป็นธรรมบาลผู้คุ้มครองธรรม คุ้มครองโลกคุ้มครองคนดีเป็นตัวแทนของเทวดามเหสักข์แห่งวัดอรุณราชวราราม เป็นเจ้าแห่งภูตผี ปีศาจ บรรดาผีปีศาจทั้งหลายต่างเกรงกลัวทั้งสิ้น เป็นตัวแทนของหิริโอตตัปปะ และพรหมวิหาร 4 เป็นพญายักษ์ที่มีเกียรติ มีฤทธิ์ไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน งานศิลปะที่องค์พญายักษ์ทั้งสองได้สะท้อนถึง 9 เอกลักษณ์ของพญายักษ์วัดแจ้งที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน คือ มีศีรษะตรีชั้นหมายถึง เทินกันเป็น 3 ชั้น ยอดบนสุดเป็นหน้าเทพแสดงถึงวงศ์แห่งพระพรหม ความรู้และอำนาจที่ครอบงำได้ทั้งสามโลก (สหัสเดชะ) ใบหน้านับรวมได้ 10 หน้า หมายถึง ศาสตร์ทั้ง 6 และพระเวทย์ทั้ง 4 (ทศกัณฐ์) ยืนแบบเหลี่ยมยักษ์อย่างชัดเจน คือกางขาออก ย่อเข่า เป็นลักษณะที่แสดงถึงความแข็งแรงและพลังอำนาจ พละกำลังอันมหาศาล ความน่าเกรงขาม พญายักษ์ที่มีรากเหง้าจากรามเกียรติ์วรรณกรรมของฮินดูก็จริงแต่นำมาสร้างในคติของพระพุทธศาสนา เป็นพญายักษ์ที่สร้างตามศิลปะแบบโขนละครไทยอย่างถูกต้อง ถือเป็นครูทางโขนละครที่ได้รับความนิยมเชื่อถืออย่างสูงด้วย มีอินทรธนูอันเป็นเครื่องประดับยศของชุดที่หัวไหล่ อินทรธนูเป็นสัญลักษณ์สำคัญของตัวยักษ์และตัวพระ ซึ่งวัตถุมงคลยักษ์อื่นๆ มักทำอินทรธนูรวมๆ ไปกับกรองศอจนแทบกลืนกันไป แต่พญายักษ์วัดแจ้งมีอินทรธนูที่ดูเด่นงดงามแสดงถึงความมียศถาบรรดาศักดิ์อันยิ่งใหญ่ ความมีอำนาจเหนือเหล่าบรรดายักษ์และภูตผีทั้งปวง มีทองกรหรือกำไลแผง สัญลักษณ์แห่งการทำมาค้าขายสิ่งใดก็มีกำไร เป็นเจ้าสัวเป็นเศรษฐี มีธำมรงค์หรือแหวน เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นราชา ความมีอำนาจ มีเสน่ห์ซึ่งยักษ์ที่อื่นจะไม่มีแหวน กระบองของพญายักษ์วัดแจ้ง เป็นกระบองประดับนพรัตน์ มิใช่กระบอกเกลียวตาลแบบยักษ์ทั่วไปที่เคยเห็น มาจากคุณวิเศษของไม้เท้าสหัสเดชะคือต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าพญายักษ์ตนใดๆ คุณลักษณะมงคลอันเป็นเอกลักษณ์ทั้ง 9 ประการที่ถือว่าพญายักษ์วัดแจ้งเป็นยักษ์ในวัง และสร้างได้ถูกต้องตามศิลปะโขนละคร ถูกต้องตามศาสตร์ และเป็นเอกลักษณ์ที่ยักษ์อื่นๆ ไม่มี มีที่นี่ที่เดียว พญายักษ์วัดแจ้ง พญายักษ์ผู้พิทักษ์วัดอรุณราชวราราม

ตามด้วยงานมหามงคลร่วมพิธีบวงสรวงบนเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำของแผ่นดิน โดยมี พราหมณ์ภีระเมศร์ ประสิทธิเมธี และ อ.มุ่ย หูทิพย์ เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง ท่ามกลางนักท่องเที่ยว ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมทั้ง นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร นายสหรัฐ โพธิโต รองผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร และนายวัชรพงศ์ จิรภาวสุทธิ์ พนักงานการตลาด ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงก็ร่วมกันจุดเทียนชัยถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กลางลำน้ำเจ้าพระยา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ปิดท้ายด้วยล่องเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ-ยามเย็น ดินเนอร์กับอาหารเลิศรส ชมความวิจิตรสวยงาม แสงสี ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างอิ่มบุญ มีความสุข

นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวปิดท้ายว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร สมาคมส่งเสิมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) "อ.มุ่ย หูทิพย์" โหราจารย์ชื่อดังของประเทศไทย และบริษัท ซิลเวอร์สโตนทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด จัดขึ้นมาเพื่อเป็นกิจกรรมพิเศษเนื่องในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในกิจกรรมนี้ก็มุ่งเน้นชวนให้ผู้คนออกมาเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ไปไหว้พระเสริมสิริมงคลใน 4 วัดสำคัญ ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร และวัดอรุณราชวราราม ปิดท้ายด้วยการล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลำน้ำเจ้าพระยา ตามรอยวิจิตรเจ้าพระยาที่เคยจัดไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เป็นกิจกรรมที่ดี และเป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้คนเดินทางท่องเที่ยวในเชิงศรัทธา สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ ความศรัทธา ก็เป็นเส้นทางที่น่าสนใจ นอกจากจะได้ความสุขจากการไหว้พระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรอันเป็นมงคล เพื่อให้ประสบความสำเร็จต่างๆ แล้ว ก็เป็นการเดินทางท่องเที่ยวไทย ทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี

ในอนาคตเราคิดว่าโครงการนี้จะมีการขยายผลดีงนักท่องเที่ยวในต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่มากยิ่งขี้น บริษัทท่องเที่ยวนอกจากจะมีการเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดแล้ว ก็มีแผนที่จะดึงนักท่องเที่ยวในต่างจังหวัดเข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในสายศรัทธาในกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครเองก็มีแหล่งท่องเที่ยวในเชิงศรัทธาที่น่าสนใจหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงศาสนาพุทธ ในเชิงศาสนาพราหมณ์  ในเชิงความเชื่อต่างๆ และแต่ละแห่งก็มีเรื่องราวน่าสนใจ แล้วก็สามารถจะผูกโยงร้อยเรียงเข้ากับเรื่องแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ซึ่งกรุงเทพมหานครมีหลากหลายให้เลือกสรร ทั้งอาหารมิชลิน ไปยังอาหารซีฟู้ดที่มีชื่อเสียง รวมถึงคาเฟ่สวยๆ และก็มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจอีกหลายแห่ง แม่น้ำเจ้าพระยาเองก็เป็นเส้นทางสายสำคัญที่ดึงดูดให้คนทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศเข้ามาในกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นในอนาคต เราเตรียมว่าจะโปรโมทให้กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เรียกว่า "ศรัทธามหานคร" เพราะเรามีแหล่งท่องเที่ยวในเชิงศรัทธามากมายหลายแห่ง และแต่ละแห่งก็มีความน่าสนใจ ฉะนั้นในอนาคตเราจะร่วมกับบริษัทท่องเที่ยวและสมาคมท่องเที่ยวช่วยกันขยายเส้นทางให้มีความหลากหลายมากยิ่งขี้น ตอบโจทย์สำหรับคนที่เดินทางและสนใจที่จะเดินทางท่งเที่ยวมากยิ่งขื้น

"ไหว้พระถูกที่ ทำพิธีถูกทาง สำเร็จผลทันใจปรารถนา"

#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร

#สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย

#บริษัท ซิลเวอร์สโตนทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด 

#วิจิตรแสงสี  5 ภาค


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and Art Festival 2024”

งาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and  Art Festival 2024”  16 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 2568  ณ สวนไม้งามริมน้ำกก         ...