วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

Big C จัดทริป "คิดถึงชุมชน ท่องเที่ยว วิถีข้าวไทย" ครั้งนี้ 6 @น่าน

Big C จัดทริป "คิดถึงชุมชน ท่องเที่ยว วิถีข้าวไทย" ครั้งนี้ 6 @น่าน




        บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จํากัด (มหาชน) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานน่าน นำโดย นายโยธิน ทับทิมทอง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานน่าน จัดทริป "คิดถึงชุมชน ท่องเที่ยว วิถีข้าวไทย" ครั้งนี้ 6 เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่ซื้อข้าว นำลูกค้ากว่า 60 ท่านท่องเที่ยวจังหวัดน่าน ด้วยการสนับสนุนของ ททท. สำนักงานน่าน, ข้าวตราฉัตร,  ข้าวไทย วงศ์ทอง, ข้าว สกก.ร้อยเอ็ด, ข้าว Green Niche (กรีน นิช), ข้าวแสนดี, ข้าวพิมาย, ข้าวดอกบัวแดง, ข้าวเบญจรงค์, ข้าวตราไก่แจ้, ข้าวหงษ์ทอง, ข้าว A Rice, ข้าวพนมรุ้ง, ข้าวสยามปราณา, ข้าวธรรม คัจเจอร์ และข้าวปิ่นเงิน โดยมีผู้บริหาร กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี นำโดย นายชัยโรจน์ เชิดตระกูลยิ่ง Manager Executive:CEO คุณรังสินี นาคนาคร Acting AVP DF-Salted Grocery นายสุชิน ถวิลวิสาร Vice President Operations คุณศญาดา วงษ์เหมือน AVP-TP DF คุณสุชาดา ศรีทองสุก VP DF-Salted Grocery กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี ร่วมเดินทางด้วย โดยมี บริษัท ซิลเวอร์ สโตน ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการพาเที่ยวในทริปนี้


 

          คณะเราออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง สู่จังหวัดน่าน โดยสายการบิน Air Asia เมื่อถึงท่าอากาศยานน่านนคร จ.น่าน คณะเราก็เดินทางไปวัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตี๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน เพื่อสักการะ "พระธาตุแช่แช่แห้ง โดยมี อ.คฑา ชินบัญชร เป็นผู้นำในการสักการะ



 
          พระบรมธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองน่าน มนต์เสน่ห์แห่งล้านนาตะวันออก เป็นพระธาตุคนเกิดปีเถาะ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1891ในสมัยพญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่าน น่าจะมีอายุกว่า 600 ปี สูงถึง 55.5 ม. ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 22.5 ม. องค์พระธาตุสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ทรงระฆัง โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย และพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่พญาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จ.สุโขทัย ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 1897 ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าล้านทอง ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัยศิลปะแบบล้านนา วิหารพุทธไสยาศน์ ที่มีเจดีย์สีขาวศิลปะพม่าเป็นเจดีย์ที่จำลองมาไว้ให้กราบไหว้บูชากัน




        โดยทุกปีจะมีการจัด"งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง" งานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 ประมาณปลายกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม ชาวเมืองล้านนา เชื่อกันว่าการกราบสักการะองค์พระธาตุแช่แห้ง หรือที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า "การชูธาตุ" จะทำได้รับอานิสงค์อย่างแรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดี มีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ หน้าที่การงานก็จะเจริญก้าวหน้า





         ตามด้วยการกราบสักการะ "พระธาตุช้างค้ำ" ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เมื่อไปถึงคณะเราได้กราบ พระครูพิทักษ์เจติยานันท์ (เพียร ธมฺมวโร) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร และท่านได้เป็นผู้ทำพิธีสักการะ โดยมี อ.คฑา ชินบัญชร เป็นผู้นำในการสักการะ  หลังทำการสักการะเสร็จสิ้น ท่านเล่าให้ฟังว่า "วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร" เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง พญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1949 พระวิหารหลวงเป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสาด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารมีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลักลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 ม. เป็นลวดลายกนกระย้าย้อย เหมือนลวดลายที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์ ที่ด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันไดด้านละตัว



 
       ภายในวัดมีพระธาตุช้างค้ำ นับเป็นปูชนียสถานสำคัญ ที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) ศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 ก่ออิฐถือปูน ฐานจากชั้นแรกถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัวโผล่ส่วนหัวลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน ดูคล้ายจะเอาหลังหนุนหรือค้ำองค์เจดีย์ไว้ มีลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชั้น ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงรองรับมาลัยลูกแก้วลดหลั่นกันไป ปัจจุบันพระธาตุช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก




      นอกจากนี้ภายในวัดยังมีหอไตร สร้างขึ้น พ.ศ. 2453 ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช มีพระสมุห์อิน เจ้าอาวาสวัดหัวข่วงกับจีนอิ๋วจีนซาเป็นสล่า โครงสร้างสถาปัตยกรรมมีลักษณะอย่างเดียวกับวิหารและโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้าคู่กับพระวิหารหลวง อาคารก่ออิฐโบกปูน ยกพื้นสูงมีสิงห์ยืนอยู่ด้านหน้าตรงเชิงบันใดด้านละ 1 ตัว ตั้งเสารายรับหลังคาเชิงชายแทนผนัง และก่อผนังปิด ตรงแนวเสาที่รับคาน มีทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูทางเดียว บานประตูสลักเป็นรูปเทวดา 2 องค์ และมีลายปูนปั้น เป็นรูปยอดปราสาท ทำเป็นชั้นติดหน้าต่างด้านละ 3 บาน ผนังด้านหลังปิดทึบ ด้านนอกสองข้างทาง ระหว่างเสารายและผนัง เป็นทางเดินถึงกันได้ตลอดโดยรอบ อาคารสูงหลังคาช้อน 3 ชั้น ไม่มีมุขลด ที่หน้าบันใช้แผ่นไม้เรียงต่อกันเป็นแผ่นๆ ประดับลายปูนปั้นล้อพระยาครุฑ ระหว่างช่วงเสาประดับด้วยแผ่นไม้จำหลัก ลายกนก เป็นรูปสามเหลี่ยม สลับลายพุ่มข้าวบิณฑ์คว่ำ และรูปพระยาครุฑห้อยลงมาตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฏก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบลานจารอักษรตัวธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นวิหาร ภายในประดิษฐาน "พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี" พระประธาน เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทานอภัย ศิลปะเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ สูง 1.45 มส่วนผสมของทองคำร้อยละ 65  ที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ฝีมือสกุลช่างน่าน อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย



 
        แล้วก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน มื้อนี้คณะเรา ทานอาหารพื้นถิ่นกันที่ "ร้านอาหารเฮือนภูคา" ร้านต้นตำรับอาหารพื้นเมืองชาวน่านของแท้ บรรยากาศตัวร้านเป็นเรือนไม้เก่าแบบเปิดโล่ง ตกแต่งด้วยการแขวนเครื่องเทศและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สไตล์กลิ่นอายเมืองน่าน เมนูที่ทานก็มี แกงฮังเลหมูเตาถ่าน รสชาติกลมกล่อม หมูนุ่มอร่อย, ออเดิร์ฟเมืองน่าน+น้ำพริกหนุ่มรสจัดจ้าน, ซี่โครงหมูทอดมะแขว่นกับเครื่องเทศหอมๆ รสชาติเข้มข้น, อ๊อคปลาคัง ผักเชียงดาคั่วไข่ รับรองว่าถูกใจนักท่องเที่ยวที่ต้องการรับประทานอาหารพื้นเมืองแน่นอน





        อิ่มเอมสบายอุรา ก็เดินทางไปเยี่ยมชม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาเมืองน่าน อิสระกับการเลือกซื้อของ เพื่อมอบให้กับโรงเรียนบ้านน้ำปูน จากนั้นก็เดินทางเข้าที่พัก "ศศิดารารีสอร์ท" เช็คอินเก็บกระเป๋าสัมภาระ พักผ่อนตามอัธยาศัย เตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องธีมเสื้อผ้าสไตล์ล้านนา เพื่อร่วมงานเลี้ยงรับรองที่ทาง  ททท. สำนักงานน่าน จัดให้




         หลังพักผ่อน มีเรี่ยวมีแรงพอสมควร คณะเราเดินทางสู่ "วัดพระธาตุเขาน้อย" ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน จ.น่าน ตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 240 ม. เพื่อกราบสักการะ "องค์พระธาตุเขาน้อย" พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นเจดีย์ศิลปะพม่าผสมล้านนา ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกับ พระธาตุแช่แห้ง ในสมัยของเจ้าปู่แข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2030  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ศิลปะพม่าผสมล้านนา ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ในปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารก็สร้างในสมัยนี้เช่นกัน ภายในองค์พระธาตุบรรจุ พระเกศาธาตุ ของพระพุทธเจ้า และกราบสักการะ "พระพุทธมหาอุตมมงคลนันทบุรีศรีเมืองน่าน" ที่ประดิษฐานที่ลานปูน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 ม. บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ณ จุดนี้ยังเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกในยามเช้า ที่เราจะสามารถมองเห็นหมอกสีขาวปกคลุมไปทั่วบริเวณ ท่ามกลางสายลมเย็นที่พัดผ่าน และถ้ามาในช่วงกลางวันก็จะมองเห็นวิวของเมืองน่านได้ทั่วทั้งเมือง มีภูเขาที่โอบล้อมเมืองเป็นฉากหลัง ก็จะเป็นภาพที่สวยงามอลังการมาก





        ชมทัศนียภาพยามเย็นที่สวยงามแล้ว คณะเราก็เดินทางไปงานเลี้ยงรับรอง รับประทานอาหารเย็น แบบขันโตกล้านนา ณ "โฮงเจ้าฟองคำ" ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน โดยมี นางวจิราพร อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยคุณดวงใจ นิมมานเหมินทร์ รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานน่าน กล่าวต้อนรับ พร้อมชมการแสดงฟ้อนรำพื้นบ้านที่สวยงามและตื่นเต้นเร้าใจ
         โฮงเจ้าฟองคำ เป็นบ้านของเจ้าล้านนาไทยฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา คำว่า "โฮง" เป็นคำพื้นเมืองล้านนา หมายถึงคุ้มหรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย บ้านหลังนี้เป็นบ้านของ "เจ้าศรีตุมมา" หลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 12 ของราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ และได้กลายเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานคือ "เจ้าฟองคำ" เป็นเรือนไม้ทั้งหลัง มีลานเชื่อมต่อทุกหลังเพื่อให้เดินหากันได้สะดวก ตัวโฮงสร้างขึ้นด้วยไม้สักผ่า การประกอบตัวเรือนใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้โดยใช้สลักไม้ ไม่ได้ใช้ตะปูแบบสมัยนี้ ตัวเรือนได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง และดัดแปลงไปจากลักษณะเดิม แต่ยังเเห็นร่องรอยเก่าๆ ที่มีเหลือในส่วนต่างๆ ตัวบ้านมีห้องโถงเรียกว่าหน้าโถง มีห้องนอน 2 ห้อง และระเบียงด้านหน้ามีชายหน้าบ้าน จากบันไดหน้าบ้านอ้อมตัวเรือนทั้ง 2 ไปถึงบันไดหลังบ้าน ห้องต่างๆ ภายในถูกเก็บไว้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย ถูกจัดวางอย่างเข้าที่เข้าทาง สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน โดยของทั้งหมดเป็นของเก่าที่ใช้ในบ้าน และมีเครื่องเงินต่างชาติที่เจ้าของบ้านสะสมไว้ โฮงเจ้าฟองคำได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ประจำปี 2555 นอกจากกชมความเก่าแก่ของโฮงที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่อง การทอผ้าพื้นเมือง โดยจะมีการสอนการทอผ้าฝ้ายด้วยวิธีพื้นบ้าน เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย การผลิตเส้นด้ายโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น การย้อมสีธรรมชาติ เช่น สีดำจากผลมะเกลือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากขมิ้นฯ โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้อธิบาย และนำชมผ้าทอชนิดต่างๆ ที่สวยงาม จากนั้นเดินทางกลับสู่ ศศิดารา รีสอร์ท ที่พัก ระดับ 4 ดาว ราตรีสวัสดิ์ นอนหลับฝันดี




           รุ่งอรุณเบิกฟ้า พระอาทิตย์เรื่มทอแสงสีทองจับท้องฟ้า วันนี้เป็นวันดีที่คณะเราได้ร่วมกันตักบาตรแก่พระสงฆ์ที่สะพานไม้ขัดแตะ เป็นภาพที่สวยงามมีเสน่ห์ โดยมีนายชัยโรจน์ เชิดตระกูลยิ่ง ผู้บริหารอาวุโส ฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์  สำนักสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี กล่าวต้อนรับ พร้อมเปิดกิจกรรมเกี่ยวข้าว-ทำข้าวหลาม คณะเราต่างสนุกสุดเหวี่ยงกับการแข่งขันเกี่ยวข้าว-ทำข้าวหลามอย่างเฮฮาพร้อมแชะภาพเซลฟีกับนาข้าวอย่างมีความสุข กิจกรรมนี้คุณดวงใจ นิมมานเหมินทร์ รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานน่าน พร้อมทีมงาน ททท.อย่าง น้องปาล์ม น้องโบว์ ก็ไม่พลาดที่จะมาร่วมสนุกเกี่ยวข้าวด้วย ณ ศศิดารารีสอร์ท ที่พัก




           ช่วงบ่ายคณะเราก็เดินทางสู่ "บ่อเกลือ" แหล่งเกลือสินเธาว์ขนาดใหญ่บนภูเขาแห่งเดียวในโลก ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เกลือเป็นสินค้าส่งออก และสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้ากับกองคาราวานจากจีน ที่ใช้เส้นทางสิบสองปันนา รัฐฉาน สู่เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เมืองสา (อ.เวียงสาในปัจจุบัน) และแพร่ รวมทั้งพ่อค้าไทเขินจากเชียงตุง และพ่อค้าวัวชาวไทลื้อจากอำเภอท่าวังผา พญาติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ยกทัพมาตีน่านก็มุ่งหวังครอบครองบ่อเกลือ ซึ่งถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในสมัยนั้น
         



ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มเกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม โดยตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก ก่อนจะนำน้ำเกลือมาต้มในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ เคี่ยวจนน้ำงวดแห้ง ใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน เกลือเมืองน่านไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล จึงต้องเติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้บริโภค ชาวบ่อเกลือจะงดทำเกลือช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เพราะเป็นฤดูฝน





          หลังชม ชิม ช้อป ที่บ่อเกลือโบราณแล้ว คณะเราก็เดินทางไปที่ "หยุดเวลาคาเฟ่" บ้านนสะปัน ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นร้านกาแฟวิวสวยหลักล้านบนยอดของสปัน ใกล้กับวัดสะพาน คณะเรานั่งจิบกาแฟชมทัศนียภาพที่สวยงาม มองเห็นทุ่งนาที่อยู่เบื้องล่าง รายล้อมด้วยภูเขาเรียงรายสลับซับซ้อน ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายและสดชื่น จนอยากที่จะหยุดเวลาไว้ที่นี้จริงๆ ถ้าในช่วงเช้า เราจะเห็นทะลหมอก มีสายหมอกสีขาวสวยงามมาก




 
         ขากลับเข้าเมือง คณะเราก็ไม่พลาดกับ "ถนนหมายเลข 3" ไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวมาเช็คอินกัน หลังเช็คอิน แชะ แชร์แล้ว คณะเราก็เดินทางกลับตัวเมืองน่านเพื่อรับประทานอาหารเย็นที่ "ร้านเฮือนฮอม" เป็นร้านพื้นเมืองบรรยากาศแบบสไตล์ล้านนาแท้ พร้อมบริการด้วยรอยยิ้มประทับใจ พร้อมเสิร์ฟเมนู่อร่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนมจีน ชุดใหญ่ มาพร้อมผักเคืองเคียง และน้ำแกงขนมจีนครบชุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำเงี้ยว น้ำกะทิ น้ำพริก และที่ขาดไม่ได้คือ ข้าวซอยไก่ รับรองว่าทุกเมนูอร่อยตามแบบฉบับอาหารเหนือแท้ๆ












 
          ปิดทริปของวันนี้ด้วยการเดินเล่น พร้อมช้อปปิ้งเลือกซื้อของทานเล่น ของที่ระลึก ณ ถนนคนเดินเมืองน่าน และนั่งรถรางชมรอบตัวเมืองน่านยามค่ำคืน เช่น ศาลหลักเมือง วัดช้างค้ำ วัดศรีพันต้น กำแพงเมืองเก่า ฯลฯ




       เช้าวันใหม่ อากาศสดใส คณะเรารับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารโรงแรม ศศิดารารีสอร์ท ใส่เสื้อโครงการ "เที่ยววิถีข้าวไทย ครั้งที่ 6" เช็คเอาท์ ออกเดินทางสู่บ้านน้ำปูน เพื่อร่วมกิจกรรม CSR มอบของใช้ที่จำเป็น พร้อมอาหาร ให้แก่เด็กๆ ณ "โรงเรียนวัดบ้านน้ำปูน" ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จังหวัด.น่าน โดยวันนี้ทางโรงเรียนได้จัดโชว์พิเศษ นั่นคือการแสดงที่น่ารักของเด็กๆ







        หลังทำความดี อิ่มบุญแล้ว คณะเราก็เดินทางมารับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารสุริยาถ้า มาเมืองน่านทั้งที ไม่ได้ไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง "กระซิบรักบรรลือโลก" ก็ถือว่ามาไม่ถึงจังหวัดน่าน คณะเราจึงไม่พลาดที่จะเดินทางไป "วัดภูมินทร์" ถ.ผากอง ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” สร้างโดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อ พ.ศ. 2139  พระอุโบสถเป็นอาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย มีนาคสะดุ้งตัวใหญ่ 2 ตัวเทินพระอุโบสถไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2410 โดยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช สันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ในวิหารหลวงคงจะวาดขึ้นในการซ่อมแซมครั้งนี้ ภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เรื่องชาดก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตำนานพื้นบ้านของชาวเมืองน่าน และภาพปู่ม่านย่าม่าน






 
      ภาพปู่ม่านย่าม่าน หรือภาพ "กระซิบรักบรรลือโลก" เป็นภาพที่มีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ วาดขึ้นโดย"หนานบัวผัน" ศิลปินชาวไทลื้อ ที่เคยสร้างงานจิตรกรรมที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ทั้งนี้ได้การแต่งคำบรรยายภาพเป็นภาษาถิ่นพายัพอันสละสลวย และแปลโดย สมเจตน์ วิมลเกษม ความว่า
       "คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…" 
        ซึ่งแปลได้ว่า "ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะแย่งความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น"      
      แล้วก็ได้เวลาอำลาเมืองน่าน ออกเดินทางกลับสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ  โดยสายการบิน AIRASIA โดยสวัสดิภาพและประทับใจ
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สจล. เปิด"ศูนย์วิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว" (K-EQSAN) ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาคารทั่วประเทศ

สจล. เปิด"ศูนย์วิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว" (K-EQSAN)  ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาคารทั่วประเทศ        สถาบันเทคโนโลยีพระจอ...