วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เที่ยวแก้ชง เสริมมงคลปีขาล เส้นทางพิจิตรพิสมัย กราบหลวงพ่อทอง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อเหลือ สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ตามสโลแกน ”พิจิตร เมืองเล็กแต่น่ารัก”

เที่ยวแก้ชง เสริมมงคลปีขาล เส้นทางพิจิตรพิสมัย

กราบหลวงพ่อทอง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อเหลือ

สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ตามสโลแกน ”พิจิตร เมืองเล็กแต่น่ารัก”

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เจ้าของโครงการ “เที่ยวแก้ชง เสริมมงคลปีขาล” ร่วมกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) นำโดย นายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมฯ และ ททท. สำนักงานนครสวรรค์ โดยนางสาวสิริพร ไกรสุวรรณ รองผู้อำนวยการฯ ตัวแทนนายเลิศชาย หวังตระกูลดี ผู้อำนวยการฯ ร่วมกันจัดกิจกรรม ”เที่ยวแก้ชง เสริมมงคลปีขาล เส้นทางพิจิตรพิสมัย” มีบริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ เป็นผู้ดำเนินการนำพานักท่องเที่ยวกว่า 50 คนร่วมเดินทางท่องเที่ยวในกิจกรรมครั้งนี้





โดยเริ่มจากวัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ) เมื่อไปถึง พระครูใบฎีกา กันตภณ (หลวงพี่นโม) ก็ได้เล่าประวัติความเป็นมาของวัดเขากบว่า วัดแห่งนี้มีความเก่าแก่และทรงคุณค่าอย่างยิ่งของจังหวัดนครสวรรค์ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 1962 โดยพญาบาลเมือง สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พญารามผู้น้องซึ่งได้สิ้นพระชนม์ในระหว่างทำศึกสงครามหัวเมืองฝ่ายใต้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏในศิลาจารึก 2 หลัก ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ไปจากยอดเขาใกล้กับรอยพระพุทธบาทจำลองและได้จากเมืองนครชุมจังหวัดกำแพงเพชร แล้วก็พาพวกเราไปกราบสักการะ “หลวงพ่อทอง” พระเกจิที่มีชื่อเสียงมีคุณงามความดี มีวิชาที่อาคมที่แก่กล้า เข้มขลัง เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน น้ำมนต์หลวงพ่อทองศักดิ์สิทธ์มาก แต่จะเป็นที่รู้กันของชาวบ้านว่า “น้ำมนต์หลวงพ่อทอง ให้อธิษฐานแล้วให้ดื่มได้อย่างเดียว ห้ามใช้อาบโดยเด็ดขาด” ในปี พ.ศ. 2452 ที่จังหวัดนครปฐมได้มีการชุมนุมพระอาจารย์จากสำนักต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีการทดสอบวิทยาคม และพลังจิตจากพระอาจารย์ทั่วประเทศที่ได้รับนิมนต์มาร่วมในพิธีร้อยกว่าองค์  มีสมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ในการทดสอบครั้งนั้นมีกติกาว่าให้เอาท่อนไม้มา 1 ท่อน วางบนม้า 2 ตัว แล้ว เอากบไสไม้วางไว้บนท่อนไม้ แล้วประธานฝ่ายสงฆ์จึงบอกกติกาว่า อาจารย์องค์ใดสามารถทำกบไสไม้ให้วิ่งไสไม้ไปกลับได้โดยกบไม่หล่นทำการทดสอบกันถึงสามวันสามคืน พระอาจารย์ที่ทำได้มีด้วยกัน 10 รูป ในสิบรูปนั้นมี หลวงพ่อกลั่น หลวงปู่บุญ หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก หลวงพ่อทอง วัดเขากบ นครสวรรค์ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย หลวงปู่ยิ้ม หนองบัว หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ ชุมพร จากนั้นก็พาไปกราบสักการะ พระพุทธไสยาสน์ ที่มึความยาว 10 วาเศษ  ตามด้วยพาขึ้นเขาไปกราบรอยพระพุทธบาทจำลองจากลังกา ซึ่งถูกส่งมาให้เป็นบรรณาการ พระเจ้าลิไท กษัตริย์สุโขทัยองค์ที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำมาประดิษฐานไว้บนยอดเขากบ และพระพุทธรูปหินปางนาคปรก สมัยเชียงแสน พร้อมทั้งกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในเจดีย์ใหญ่





จากนั้นเดินทางไปที่ วัดท้ายน้ำ ต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล เข้ากราบขอพรจากพระครูพินิจสีลคุณ เจ้าอาวาสวัดท้ายน้ำ เจ้าคณะตำบลโพทะเล ท่านเลาให้ฟังว่าวัดท้ายน้ำเป็นวัดเก่าแก่อายุ 100 กว่าปี สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2423 เดิมตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของลำคลอง (มีศิลาจารึกที่ขุดพบ ขรัวอินทร์ผู้สร้าง และสรรพบุรุษทั้งหลายช่วยกันสร้าง ชื่อเดิมว่าช่องลม ขอให้ภิญโญยิ่งเทอญ พ.ศ.2430) เพื่อกราบสักการะ “หลวงพ่อเงิน” เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง หรือที่รู้จักกันดีในนาม หลวงพ่อเงิน วัดบางคลานหลวงพ่อเงินเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ก่อนที่จะย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางคลาน เมื่อพวกเราเดินเข้าไปในวัด เราจะเห็นหลวงพ่อเงินองค์ขนาดใหญ่หน้าตักกว้าง 10 ม. ตั้งตระหง่าน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่ด้านข้างเป็นเรือนไทย 2 ชั้น ซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์นครไชยบวร จัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆ และรูปหล่อหลวงพ่อเงิน โดยมีเสียงบรรยายถึงประวัติของหลวงพ่อเงิน ส่วนด้านหน้าของวัดมีพระอุโบสถหลังใหญ่ ด้านในมีภาพวาดจิตรกรรมโทนสีซีเปีย และชั้นล่างก็จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมของเก่าของโบราณ รวมทั้งพระหลวงพ่อเงินรุ่นเก่าๆ มากมายหลายรุ่น รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวประวัติของหลวงพ่อเงินได้เป็นอย่างดี สนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 080-026-324






                หลังจากสักการะหลวงพ่อเงินแล้วก็เดินทางไปชมประวัติความเป็นมาของโฮจิมินห์ ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดง โฮจิมินห์ ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบชุมชนและพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อาคาร 2 ชั้น ที่แสดงให้เห็นถึงการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมอันแตกต่างร่วมกันของผู้คนในชุมชน และมิตรภาพอันดีของคนไทยที่มีต่อชาวเวียดนามมายาวนานเกือบร้อยปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชมเรื่องราวของประธานโฮจิมินห์ บุคคลตัวอย่างของโลก ขณะที่ท่านอพยพเข้ามาอาศัยที่บ้านดงในประเทศไทยที่เป็นที่แรก เมื่อเดินเข้าไปภายในจะจัดแสดงออกเป็น 9 โซน ได้แก่ โซนสายสัมพันธ์ไทยเวียดนาม โซนบ้านดงในอดีต โซนโฮจิมินห์ ผู้ปลดแอกเวียดนาม โซนภูมิศาสตร์บ้านดง จังหวัดพิจิตร โซนชุมชนบ้านดง โซนภารกิจลับที่บ้านดง โซนการเคลื่อนไหวในสยาม โซนบากบั่นปลดแอก และโซนวีรบุรุษ ที่ภายนอกอาคารมีบ้านจำลองของประธานโฮจิมินห์  จัดแสดงเป็นบ้านยกพื้นสูง ภายในตัวบ้านมีรูปปั้นของประธานโฮจิมินห์ และหิ้งบูชา รวมถึงอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวที่ท่านเคยใช้ เช่น ตู้ไม้ ตะเกียงน้ำมันเก่าๆ เป็นต้น





ตกค่ำก็เดินทางไปวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองพิจิตร โดยมีพระเมธีธรรมปนาท รองเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงมาเล่าประวัติความเปนมาของวัดท่าหลวงให้ฟัง จากรั้รนำกราบขอพร “หลวงพ่อเพชร”  ซึ่งพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม ปางมารวิชัยสมัยเชียงแสนรุ่นแรก หล่อด้วยโลหะสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูง 3 ศอก 3 นิ้ว ประทับนั่งนบฐานที่มีรูปบัวคว่ำบัวหงายรอบรับ สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช 1660 ถึง 1880  หลังกราบขอพรแล้ว ก็เดินไปที่ท่าน้ำวัดเพื่อร่วม “งานนมัสการหลวงพ่อเพชรและสมโภชเมืองพิจิตร ประจำปี 2565” ชมการแสดงประกอบแสง สี เสียง ของไหลเรือไฟ




เช้าวันใหม่พวกเราก็เดินทางไปที่วัดหงษ์ ต.ย่านยาว อ.เมือง เพื่อกราบสักการะ “หลวงพ่อเหลือ” เมื่อไปถึงพระครูวิวิธบุญกิจ เจ้าอาวาสวัดฯ พร้อมคณะกรรมการวัด ก็ได้ให้ความต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัดหงษ์และหลวงพ่อเหลือว่า วัดหงส์เดิมชื่อวัดโหง หรือวัดหงสาวาส  สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 ในอดีตวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีพระประธานในอุโบสถร้างเดิมเรียกว่า หลวงพ่อโตต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2440 แม่น้ำน่านกัดเซาะตลิ่ง ชาวบ้านจึงช่วยกันย้ายวัดและพระประธานให้ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำน่าน จนมาประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดหงษ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 มีโบราณวัตถุสำคัญคือหลวงพ่อเหลือ พระประธานในโบสถ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ประทับนั่งฐานเขียง พระเพลา มีขนาดกว้าง 96 นิ้ว สูง 133 นิ้ว ทรงยืดพระอุระ ผึ่งผายมีลักษณะงดงาม ทุกๆวันก็จะมีผู้คนมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าว ขอให้ลูกให้หลานสอบเข้าเรียนตำรวจ ทหาร พยาบาล ก็ได้สมดั่งใจนึก ขอเงินได้เงิน ของานได้งาน ขอมีลูกชายหญิงได้สมดั่งใจ ขอให้ค้าขายก็เจริญรุ่งเรือง เมื่อได้สมดั่งใจนึกที่บนบานศาลกล่าวแล้ว ก็ต้องนำลิเกมาเล่นแก้บน ส่วนงานสมโภชแก้บนหลวงพ่อเหลือวัดหงษ์จะจัดขึ้นในช่วงงานเพ็ญเดือน 4 ( ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ) ของทุกปี ทำให้ทุกๆ ปี จะมีศิษยานุศิษย์นับหมื่นพร้อมใจมาแก้บนในงานดังกล่าว นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อด้วยทองเหลือง ศิลปะเก่าโบราณ มีจุดเด่นที่ลายดอกพิกุล จากนั้นก็เดินทางไปกราบไหว้ต้นตะเคียนยักษ์อายุกว่า 400 ปี ขนาด 12 คนโอบ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือกราบไหว้ชื่อ แม่โหงหรือแม่นางเพราะเชื่อกันว่ามีนางไม้สิงสถิตอยู่ อีกทั้งเจ้าแม่โหงยังให้โชคลาภแก่ชาวบ้านที่มากราบไหว้บูชาบ่อยครั้ง สำหรับต้นตะเคียนยักษ์นี้กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศเป็น รุกขมรดกของแผ่นดิน หรือต้นไม้สำคัญของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560





กราบสักการะหลวงเพ่อเหลือแล้ว ก็เดินทางไปที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง เพื่อกราบไหว้ขอพร “เจ้าแม่ทับทิม” (ตุ้ยบ่วยเต่งเหนี่ยง) ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแม่ทับทิมองค์แรกที่ชาวจีนไหหนำนำมายังประเทศไทย โดยมีนายทนงค์ คำเผื่อน นายกเทศบาลตำบลท่าฬ่อ นายภูริก เรืองประวัติกุล (โกเต้ง) ประธานศาลเจ้าและตณะกรรมการให้การต้อนรับ เจ้าแม่ทับทิมองค์นี้ถูกอัญเชิญมาพร้อมกับเจ้าพ่อกวนอู มาจากเกาะไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในราว พ.ศ.2410 หรือประมาณ 154 ป ที่ผ่านมา ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อเป็นที่เลื่องลือ ประชาชนทั่วไปจึงมีความเลื่อมใสศรัทธา นอกจากนี้ภายในศาลยังมีถาวรวัตถุอันล้ำค่าอีก เช่น เกี้ยวที่ใช้เป็นที่ประทับขององค์เจ้าแม่ ซึ่งได้นำมาจากประเทศจีน และยังมีโรงเรียนยกเอ็ง ที่ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนให้แก่คนไทย และสอนภาษาไทยให้แก่คนจีน  ซึ่งปัจจุบันนี้ได้จำลองห้องเรียนในอดีต และจัดแสดงข้าวของ เครื่องใช้ ให้แก่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม


จากนั้นนายทนงค์ คำเผื่อน นายกเทศบาลตำบลท่าฬ่อ ก็นำไปยังวัดวัดท่าฬ่อ  ที่สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2410 เพื่อกราบไหว้หลวงพ่อหิน ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร ซึ่งผู้คนเคารพเลื่อมใสศรัทธา เพราะมีผู้คนมาบนบานหลวงพ่อหิน ก็มักประสบแต่ผลสำเร็จ วันที่พวกเราไปสักการะหลวงพ่อหิน ยังมีชาวบ้านนำของมาถวายแก้บนกันหลายราย ตามด้วยการกราบสักการะ"พระเจ้าเข้านิพพาน" พระพุทธรูปเก่าแก่ปางนิพพาน (พระเจ้าเข้านิพพานมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นในประเทศไทย คือที่วัดแห่งนี้ซึ่งถือว่าสมบูรณ์ที่สุด กับที่วิหารแกลบ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก) ที่อยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่เวลาเข้าไปชมหรือกราบสักการะ จะเห็นบุญบารมีของพระเจ้าเข้านิพพานไม่ถนัดเพราะท่านวางติดกับกำแพง จึงอยากแนะนำให้ท่านเจ้าอาวาสนำมาไว้บนพื้นสูงตรงกลางกุฎิ เพื่อประชาชนจะได้ชมบุญบารมีได้รอบด้าน นอกจากนี้ที่วิหารหลวงตากลิม ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรสวยงามและยังคงสภาพที่สมบูรณ์ วาดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 แต่วิหารนี้ไม่มีพระพุทธรูปให้คนมากราบไหว้ จึงถูกปิดตาย แต่ก็ขอแนะนำให้เปิดวิหารให้เข้าชม






จากนั้นก็เดินทางไปที่ย่านเก่าวังกรด ต.วังกรด อ.เมือง โดยมีนายไตรสิทธิ์ เหรียญดำรงพร นายกเทศมนตรีตำบลวังกรด นำชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้ บ้านเก่าแก่ซึ่งคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะ บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายให้แก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี ที่นี่ยังมี บ้านหลวงประเทืองคดี เป็นอาคารโบราณของหลวงประเทืองคดีเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรมที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตลาด นับเป็นอาคาร ตึกหลังแรกในชุมชนตลาดวังกรด ปัจจุบันจัดแสดงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ร่วมกิจกรรม DIY ร่วมกับชุมชนวังกรด หลังเสร็จกิจกรรมแล้วก็พานั่งรถรางไปวัดวังกลม เพื่อสักการะ “หลวงพ่อลือ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะงดงาม มีพระอริยบทประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 5 เมตร 50 เซนติเมตร สร้างด้วยปูนปั้นราวปี พ.ศ. 2461 โดยหลวงพ่อบุญลือ เจ้าอาวาสวัดสามประทุม อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งธุดงค์ผ่านมาพักที่วัดวังกลม เห็นว่าในโบสถ์ยังไม่มีพระประธาน จึงรับอาสาสร้างให้ เนื่องจากเป็นผู้มีฝีมือในการปั้น โดยให้เรียกนามพระประธานว่า หลวงพ่อลือันหมายถึงชื่อทีลือกระฉ่อนขจรไกล





                เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปตักบาตรที่วัดดงกลาง ต.ดงกลาง อ.เมือง  การตักบาตรทางน้ำที่พระครูวิจารณ์ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสฯ เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนาและวัฒนธรรมที่เป็นมนต์เสน่ห์ของวิถีท้องถิ่น โดยพระสงฆ์จะนั่งสวดมนต์พิธีเพื่อความเป็นความสิริมงคลแก่ญาติโยมที่มาร่วมใส่บาตร และอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร จากนั้นพระสงฆ์ก็จะไปลงเรือ  เพื่อล่องเรือมารับบิณฑบาตจากญาติโยม กิจกรรมตักบาตรทางเรือจะมีเฉพาะวันอาทิตย์ในช่วงเวลา 07.30 น. ส่วนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงตั้งแต่เวลา 15.00 น. – 20.00 น. ที่นี่ก็จัดให้มีตลาดน้ำดงกลางริเวอร์ไซด์ เป็นตลาดนัดที่ชาวบ้านนำของกิน ของขาย ที่เป็นผลิตภัณฑ์ ผลิตผลพืชผัก ผลไม้ และของฝาก มาจำหน่ายในราคาย่อมเยา และยังมีบึงบัวให้ได้ถ่ายภาพเซลฟี่กันด้วย





หลังจากตักบาตรได้บุญกันเรียบร้อย ก็เดินทางไปบ้านเก่าเสาปั้นจั่น บ้านเก่าแก่ใน อ.ตะพานหิน สถานที่ท่องเที่ยวกึ่งพิพิธภัณฑ์กึ่งแกลลอรี่ เมื่อไปถึงนายสมบัติ อิสรากำพต และนายสิทธิเดช แซ่จิว เจ้าของบ้าน ตั้งใจอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้แก่คนรุ่นใหม่ ได้นำชมและบรรยายถึงสิ่งของโบราณที่รวบรวมไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กล้องส่องภาพ 3 มิติที่มีอายุนับร้อยปี ภาพวาดจากศิลปินเก่าแก่ชื่อดัง รูปปั้นโบราณ ตู้ เตียง ที่มีอายุนับร้อยปี และในทุกๆ ปีของที่นำมาโชว์ในพิพิธภัณฑ์จะถูกสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนนำออกมาให้ชมไม่ซ้ำกัน ในอดีตบ้านหลังนี้เคยใช้เป็นสถานประกอบการต่างๆ มากมาย จนยุคร่วงโรยได้ถูกปิดลง แต่ยังคงเก็บรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ในบ้านมากมาย จนได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ อดีตที่น่าจดจำ






หลังชมของเก่าที่หาชมได้ยากแล้ว พวกเราก็เดินทางไปยังศาลเจ้าพ่อแก้ว ศาลปัจจุบันหลังใหม่ โดยได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากนางเมตตา สุขสุวคนธ์ ประธานกรรมการและคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อแก้ว ตัวศาลเจ่าพ่อแก้วตกแต่งประดับประดาแบบจีน มีซุ้มประตูประดับด้วยมังกรและสัตว์มงคลตามความเชื่อของชาวจีนอย่างสวยงามวิจิตร  ชั้นล่างจะมีภาพวาดของโป๊ยเขียนหรือแปดเซียนบนฝาผนัง เมื่อมองด้วยตาเปล่าขึ้นไป 45 องศา จะมองเห็นเป็นภาพ 3 มิติที่ดูเสมือนของจริงมาก หลังเดินชมความงามของภาพวาดแล้ว พวกเราก็เดินขึ้นไปบนชั้นที่ 2 เพื่อกราบสักการะ “องค์เจ้าพ่อแก้ว” ที่เป็นไม้แกะสลักประดิษฐานอยู่ตรงกลาง คณะกรรมการศาลเจ้าเล่าว่า ผ่านมากว่า 100 กว่าปี มีคนจีนอพยพเข้ามาตั้งรกราก รับจ้าง ขายของอยู่ริมน้ำน่าน อยู่มาวันหนึ่งมีคนเห็นท่อนไม้รูปร่างเหมือนคน มีหน้า มีตา หู จมูก ปาก มีหนวดเครา ลอยน้ำมาติดพงหญ้า มี ชาวบ้านเห็นเป็นสิ่งอัศจรรย์  จึงตั้งศาลที่ริมน้ำ กราบไหว้บูชาถือเป็น “เจ้าปุนเถ่ากง” (เจ้าพ่อแก้ว) ดูแลปกปักษ์รักษาชาวบ้าน ผู้ที่กราบไหว้ต่างได้รับความสำเร็จ ร่ำรวย ค้าขายดี  จึงมีผู้คนนับถือกราบไหว้มากขึ้น ต่อมาจึงมีการจัดงานเพื่อตอบแทนเจ้าพ่อแก้วที่ช่วยที่ปกปักรักษาชาวชุมชนบางมูลนาก ให้มีความสุข จนเกิดเป็นประเพณีวันเกิดเจ้าพ่อแก้ว (ซึ่งจัดหลังวันตรุษจีน 12 วัน) และมีเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของเจ้าพ่อแก้วเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องการออกมาเตือนไฟไหม้ตลาดบางมูลนากผ่านทางร่างทรง ทำให้ชาวบ้านสามารถป้องกันเหตุไว้ได้ จนทำให้ปัจจุบันชุมชนบางมูลนากยังคงรักษาบ้านเก่าแก่อายุนับ 100 ปี ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม    จากนั้นเดินยลเมืองเก่าบางมูลนาก ชมอาคารบ้านเรือนโบราณที่เก่าแก่ที่ยังคงความคลาสสิก เดินเที่ยวชมตลาดบางมูลนากที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ร้านค้าร้านรวงต่างๆ ก็ยังเป็นบ้านแบบโบราณ ขายของกันอย่างเรียบง่ายธรรมดาตามแบบวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวัน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บางมูลนาก เซลฟี่กับภาพวาดที่วาดไว้ในมุมต่างๆ อย่างสนุกสนานเก็บไว้เป็นที่ระลึก แล้วก็เดินไปชมศาลเก่าแก่ ซึ่งเป็นศาลเดิมของศาลเจ้าบางมูลนากหรือศาลเจ้าพ่อแก้ว ที่ประดิษฐานเจ้าพ่อแก้วจำลอง





ปิดท้ายทริปชิวๆ ที่ตลาดชุมแสง ก่อนกลับกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ

นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์และพิจิตรได้ที่ ททท. สำนักงานนครสวรรค์ โทร.0 5622 1811-2 โทรสาร 0 5622 1810 Email...www.tourismnakhonsawan.org Nakhonsawan.Phichit       @tatsawanphichit    tatsawanpichit        TATsawanpichit

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2567

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2567       มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประ...