วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

งานสมโภชหลักเมืองและงานกาชาด จ.ยะลา ครั้งที่ 62 สุดยิ่งใหญ่อลังการ ประชาชนร่วมชมขบวนพาเหรดวัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา 8 อำเภอ ที่สวยงามอย่างตื่นเต้นดีใจ (ตอนที่ 1)

งานสมโภชหลักเมืองและงานกาชาด จ.ยะลา ครั้งที่ 62 สุดยิ่งใหญ่อลังการ 

ประชาชนร่วมชมขบวนพาเหรดวัฒนธรรมและของดีเมืองยะลา 8 อำเภอ ที่สวยงามอย่างตื่นเต้นดีใจ
 



     ศาลหลักเมืองยะลา ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ได้รับการออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นอาคารจตุรมุข ภายในประดิษฐานเสาหลักเมืองทำด้วยไมัชัยพฤกษ์ ซึ่งกรมป่าไม้เป็นผู้จัดหามาจากป่าเมืองกาญจนบุรี นายช่างของกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบแกะสลักเสาและยอดเสาหลักเมือง มีลักษณะเป็นแท่งกลม สูง 1.25 เมตร ตันเสาวัดโดยรอบ 1.05 เมตร และปลายเสา 0.88 เมตร แกะสลักลวดลายไทย ลงรักปิดทองรอบฐาน มีเทพารักษ์จากกาญจนบุรีมาประจำอยู่ ยอดเสาหลักเมืองเป็นรูปพรหมจตุรภักตร์ หมายถึงธรรมะของนักปกครอง ฐานเสาหลักเมือง สลักคำว่า "เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา" บนยอดเสาหลักเมืองเป็นรูปเปลวไฟ หมายถึง ความรุ่งโรจน์ สว่างไสว หรือความพัฒนาการ




         จังหวัดยะลาไม่ปรากฎหลักฐานในการสร้างหลักเมืองมาก่อน จนในปีพ.ศ. 2504 พ.ต.อ. (พิเศษ) ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในขณะนั้นและประชาชนจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันก่อสร้างศาลหลักเมืองยะลาขึ้นบริเวณศูนย์กลางวงเวียนด้านหน้า โดยพ.ต.อ. (พิเศษ) ศิรี คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาประกอบพิธีวางแผ่นศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองยะลา ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
        พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระสุหร่าย ประพรม และทรงเจิมยอดเสาหลักเมืองยะลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยอดเสาหลักเมืองแก่จังหวัดยะลา พร้อมพระราชทานผ้าตาดติดขลิบทอง แก่ พ.ต.อ. (พิเศษ) ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่ราชการจังหวัดยะลาสำหรับไปผูกเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2505




       โดยเสาหลักเมืองมาถึงจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 และได้อัญเชิญเสาหลักเมืองยะลาลงจากขบวนรถไฟขึ้นประดิษฐานบนราชรถ ตั้งขบวนแห่จากสถานีรถไฟยะลาไปประดิษฐานยังโรงพิธีบริเวณศาลหลักเมืองยะลา สำหรับพิธีฝังเสาและปักยอดเสาหลักเมืองยะลา จัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ฤกษ์เวลา 12.11 น. โดยจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชหลักเมืองยะลา 7 วัน 7 คืน ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 และยึดถือเป็นงานสมโภชประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน




        ศาลหลักเมืองยะลา ได้รับการบูรณะและก่อสร้างใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2445 โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เป็นผู้ออกแบบ โดยยึดตามผังอาคารจตุรมุขแบบเดิม รูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ หลังคาแบบบรานอร์ทรงเครื่องลำยอง และบูรณะศาลหลักเมืองอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดยะลา บูรณะอาคาร
ตามหลักเมืองยะลาและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ         
         งานสมโภชศาลหลักเมืองและงานกาชาดจังหวัดยะลาในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2567 รวม 11 วัน 11 คืน โดยภายในงานจะมีการแสดงบนเวที การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินนักร้องมากมายที่มีชื่อเสียง การออกร้านนาวากาชาด การจัดนิทรรศการ การเเสดงของส่วนราชการ เอกชน รวมไปถึงการจำหน่ายสินค้า





         งานสมโภชหลักเมืองและงานกาชาดจังหวัดยะลา ครั้งที่ 62 ประจำปี 2567 ในปีนี้ ได้รับเกียรติจาก นายอำพล  พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางฉลวย พงค์สุวรรณ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา 2 ท่าน คือ นาธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล และนายอำนาจ ชูทอง พล.ต.ต. เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พันเอก วิธเวช วิเศษศรี รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นางสุนิสา อยู่หนูสิงห์ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา คณะกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา นายอำเภอทั้ง อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสากิจ และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ บริเวณหน้าศาลหลักเมืองยะลา




          งานสมโภชหลักเมือง และงานกาชาด จังหวัดยะลา ครั้งที่ 62 ประจำปี 2567 ปีนี้จัดได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ในช่วงเช้าเริ่มจากพิธีสงฆ์ ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ รับศีล ต่อด้วยการประกอบพิธีพราหมณ์บนศาลหลักเมือง โดยมีหน่วยราชการ ประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยว นำอาหารคาวหวานมาร่วมถวายจำนวนมาก พอได้ฤกษ์ดีอันเป็นมงคล นายอำพล  พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธาน จุดธูปเทียนสักการะบูชาหลักเมือง พร้อมด้วย นางฉลวย พงค์สุวรรณ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา อธิษฐานจิตขอพร ถวายมาลัย ถวายผ้าแพร ปิดทองทั้ง 4 ทิศ จากนั้นพราหมณ์ก็เริ่มประกอบพิธีพราหมณ์ เชิญเหล่าเทพ เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาร่วมปกป้อง คุ้มครอง และนำสิ่งที่ดีงามมาสู่เมืองยะลา ตามด้วยนางรำก็เริ่มรำถวายหน้าหลักเมืองทั้ง 4 ทิศ หลังเสร็จสิ้นพิธีแล้ว นายอำพล  พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ก็อัญเชิญหลักเมืองจำลองนำขึ้นประดิษฐานบนราชรถ พร้อมนำชักลากราชรถหลักเมืองจำลองออกจากวงเวียนและแห่รอบเมืองจังหวัดยะลา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดยะลา

 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and Art Festival 2024”

งาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and  Art Festival 2024”  16 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 2568  ณ สวนไม้งามริมน้ำกก         ...