สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (สร.ปณท.) ร้องสื่อมวลชน กรณีบริหารงานของไปรษณีย์ไทยขาดทุน และการสรรหา กจป. ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
สืบเนื่องจากการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันกันมากขึ้นจนทำให้ผลประกอบการของไปรษณีย์ไทยประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี หากปล่อยให้ เหตุการณ์ดำเนินไปในเมืลักษณะนี้ต่อไป อาจทำให้ไปรษณีย์ไทยเกิดการล่มสลายเหมือนกับรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และสุดท้ายก็จะนำไปสู่ความเดือดร้อนของสมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานลูกจ้างรวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 คน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (สร.ปณท.) มีความกังวลใจต่อสถานการณ์ของไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก จึงเปิดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นว่า "เราจะทำอย่างไรให้ไปรษณีย์ไทยอยู่ได้"
นายวิเลิศ การสะสม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (สร.ปณท.) กล่าวว่า บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดเกิดการขาดทุนทุกปี เนื่องจากสาเหตุดังนี้คือ 1. มีบริการมากเกินไป ทำให้เพิ่มรายจ่าย 2. ระบบไอทีของไปรษณีย์ไทยไม่สามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ ไปรษณีย์ไทยลงทุนด้านไอทีสูงมากและไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบ NEW CA POS มีการว่าจ้างบริษัทที่ขาดคุณสมบัติและไม่มีประสบการณ์เข้ามาพัฒนาระบบ ตอนนี้เป็นคดีความอยู่กับไปรษณีย์ไทย 3. การจ้างบริษัทที่ปรึกษามากเกินความจำเป็น ทำให้รายจ่ายไปรษณีย์ไทยค่อนข้างสูงปัจจุบันจ้างบริษัทที่ปรึกษาไว้ 8 โครงการ ค่าใช้จ่าย 145 ล้านบาท ไม่รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาอีก 1 รายที่บอร์ดพยายามจ้างอยู่ 4. การทุจริตภายในองค์กร
โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (สร.ปณท.) สมาชิก พนักงาน ลูกจ้างทั่วประเทศของไปรษณีย์ ขอเรียกร้องให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทบทวนนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่คุ้มค่าต่อไปรษณีย์ไทย อย่างเช่น ควรยกเลิกบริษัทที่ปรึกษาไปรษณีย์ไทยซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 8 โครงการ มีมูลค่าสูงถึง 145 ล้านบาท โดยเอาเงินส่วนนี้มาเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกพนักงานและลูกจ้างแทน ขอให้ทบทวนและชะลอการนำเงินส่งรัฐไว้ก่อน เพื่อนำเงินส่วนนี้มาจัดทำโครงการเออรี่รีไทร์ เพื่อลดต้นทุนในด้านค่าตอบแทนแรงงานซึ่งสูงถึงเดือนละ 600 กว่าล้านบาท และสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นกับไปรษณีย์ไทยขณะนี้เป็นเพราะไปรษณีย์ไทยขาดผู้นำที่มีความรู้ในเรื่องไปรษณีย์หรือไม่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (สร.ปณท.) และพี่น้องชาวไปรษณีย์ไทยทุกคนมีความมั่นใจว่าหากได้ผู้นำที่มีความรู้ในกิจการไปรษณีย์จะสามารถนำพาไปรษณีย์ไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ส่วนการสรรหา กจป. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ประเทศไทย จำกัด (สร.ปณท.) มีความเห็นว่า การสรรหาคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารไปรษณีย์ไทยในช่วงที่ไปรษณีย์ไทยประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ในขณะนี้ ผู้ที่จะสามารถเข้ามาแก้วิกฤตปัญหานี้และรู้จักวัฒนธรรมขององค์กรเป็นอย่างดี น่าจะเป็นคนในมากกว่าคนนอก เพราะคนในมีประสบการณ์และ รู้จักวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี หากบอร์ดตัดสินใจเลือกคนนอกที่ขาดประสบการณ์และไม่เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมขององค์กรเข้ามาบริหาร จะทำให้เสียเวลาในการเรียนรู้งาน เรียนรู้คนและเสียเวลาในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยเสียโอกาสทางธุรกิจ หากบอร์ดยังใช้ความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ในการตัดสินใจเลือกคนนอกที่ขาดประสบการณ์ในด้านไปรษณีย์เข้ามาบริหารงาน หากเกิดความเสียหายขึ้นเหมือนครั้งก่อน บอร์ดจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่
ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรขนาดใหญ่ไม่ใช่เป็นองค์กรที่จะมาลองผิดลองถูกหรือเป็นองค์กรที่ใช้เป็นทางผ่าน หากเกิดการผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง พี่น้องชาวไปรษณีย์ไทยและสมาชิกในครอบครัวไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ต้องพบกับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน
และมีข้อสงสัยในการสรรหา กจป. ในครั้งนี้เกี่ยวกับการเข้าสังเกตการณ์ของประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (สร.ปณท.) โดยมีการตั้งเงื่อนไขไว้คือ 1. ไม่สามารถตั้งคำถามในระหว่างการรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ 2. ในช่วงการตอบข้อซักถามของคณะกรรมการสรรหา กจป. ท่านจะต้องออกจากห้อง จึงทำให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ไปรษณีย์ไทยจำกัด (สร.ปณท.) ทำหนังสือขอถอนตัวออกจากการเป็นผู้สังเกตการณ์เพราะไม่อยากถูกเป็นตรายางให้กับบอร์ด "นี่หรือคือหลักธรรมาภิบาลที่บอร์ดไปรษณีย์ไทยถือปฏิบัติ" และทำไมบอร์ดต้องเร่งรีบสรรหา กจป. คนใหม่ โดยไม่รอให้รัฐมนตรีดิจิทัลฯ ท่านใหม่เข้ามาบริหารงานก่อน ตามมารยาททางการเมืองเมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการฯ จะต้องลาออกทั้งคณะจริงหรือไม่อย่างไร
กว่า 7 ปีผ่านมา หากบอร์ดบริหารงานแล้วไปรษณีย์ไทยมีผลประกอบการที่ดีก็น่าสนับสนุนให้อยู่ต่อ แต่ถ้าอยู่และผลประกอบการยิ่งแย่ลง ต้องขอความอนุเคราะห์รัฐมนตรีดิจิทัลฯ ท่านใหม่เปลี่ยนบอร์ดทั้งคณะ ่เพื่อความอยู่รอดของไปรษณีย์ไทยและความอยูรอดของพี่น้องชาวไปรษณีย์ไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น