วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

วันคล้ายวันสถาปนา " ททท. ครบ 61 ปี " วันที่ 18 มีนาคม 2564

วันคล้ายวันสถาปนา " ททท. ครบ 61 ปี " วันที่ 18 มีนาคม 2564


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ครบรอบสถาปนา 61 ปีแห่งความตั้งใจ เพื่อให้เมืองไทยอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวทุกคน พร้อมเพิ่มเจตจำนงเพื่อให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ...

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานใหญ่ มีการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ครบ 61 ปี   มีบุคคลในวงการท่องเที่ยวมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น ไม่ว่าจะเป็นนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คณะผู้บริหาร ททท. อาทิ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าฝ่ายสินค้าและบริการ ททท. นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) พร้อมด้วยคณะบริหาร สททท อย่าง ว่าที่ ร.ต.เอนก นุรักษ์ รองประธานสทท. นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท. นายโสพนา  บุญสวยขวัญ กรรมการสทท. นายธเนศ วรศรัณย์ กรรมการ สทท. คุณวรางคณา สุเมธวัน  ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) พร้อมคณะกรรมการ สมาชิก เข้าร่วมงานจำนวนมาก



โดยในช่วงเช้ามีการประกอบพิธีบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี พิธีสักการะพระพุทธชัยวัฒน์ ประทานพร ททท. ,  พิธีสักการะรูปเหมือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พิธีสงฆ์จำนวน 9 รูป (จากวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร) เพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนในช่วงบ่าย) มีการมอบประกาศเกียรติคุณแก่พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 25 ปี 30 ปี และ 35 ปี และมีพิธีทางศาสนาอิสลาม



สำหรับประวัติ ททท. นั้น เริ่มจากการจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ในปี 2503 เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียง 81,340 คน หลังจากนั้นภารกิจได้ขยายตัวออกไปมากขึ้น เปลี่ยนจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) เป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปี 2522 พร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ในแต่ละปีจนเข้าสู่หลักล้านและหลายสิบล้านคนในปัจจุบัน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นอันดับต้นๆของเศรษฐกิจของชาติ เป็นการเพิ่มรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศจนบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มจำนวนและรายได้ในแผนงาน ททท. นับแต่ปี 2520



ปี พ.ศ. 2501 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปพักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษากิจการท่องเที่ยวด้วยความสนใจ และได้ดำริที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศอย่างจริงจัง ในปีต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งส่วนราชการ กรมประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยตัด " สำนักงานท่องเที่ยว " ออก แล้วจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การอิสระ เรียกว่า " องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย " มีชื่อย่อว่า " อ.ส.ท. " โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. 2502

\

องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่เดิมนั้นมีหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางรวดเร็ว จำเป็นต้องปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ อ.ส.ท. ให้มีขอบเขตการปฏิบัติงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนา อนุรักษ์ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว และการส่งเสริมเผยแพร่ จึงได้มีการนำเสนอร่าง " พระราชบัญญัติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว " เพื่อให้ หน่วยงานการท่องเที่ยวของรัฐ มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการพัฒนาส่งเสริมเผยแพร่ และ ดำเนินกิจการ เพื่อเป็นการริเริ่มให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวด้วย สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่รัฐสภาในการประชุมครั้งที่ 41 วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2522 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ แล้วปรากฏว่า ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบธุรกิจ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ผ่านการพิจารณา ส่วนพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ผ่านการพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 จัดตั้ง " การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย " ขึ้น มีชื่อย่อว่า " ททท. "




พลังสำคัญที่ทำให้ ททท. พัฒนาการท่องเที่ยวได้สำเร็จดั่งที่ตั้งไว้ คือบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นรักษาค่านิยมองค์กร หรือ TAT SPIRITS ด้วยความมีจิตมุ่งบริการ เป็นมืออาชีพ มีจริยธรรมและความซื่อสัตย์ ปฏิบัติงานอย่างสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ทำงานเป็นทีมและเครือข่าย มุ่งเน้นการคิดเชิงกลยุทธ์ ให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในองค์กรร่วมกัน ทั้งยังผลักดันการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ (Responsible Tourism) อย่างเป็นรูปธรรม โดยต่อยอดเรื่องการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านการใช้นวัตกรรม และกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2567

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2567       มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประ...